วางโรดแม็ปปฏิรูประบบประเมิน 9 เดือน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยึดภารกิจโรงเรียนเป็นหลัก ตัวชี้วัดต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการปฏิรูประบบประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ต่อไประบบการประเมินไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกโรงเรียน แต่ให้คำนึงถึงบริบทของโรงเรียน ดังนั้นเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของโรงเรียนขนาดใหญ่กับขนาดเล็กอาจไม่เหมือนกัน การประเมินจะต้องมีตัวชี้วัดที่ง่าย และเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ระบบการประเมินจะต้องทำให้ผู้ที่ถูกประเมินรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการถูกประเมิน ไม่ใช่แค่ถูกทำการทดสอบ ต้องทำให้โรงเรียนที่ถูกประเมินดีขึ้น และตอบคำถามการประเมินได้ ไม่ใช่ประเมินไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบแต่โรงเรียนแย่ลง แสดงว่าการประเมินนั้นไม่มีประโยชน์ และสุดท้ายการประเมินต่างๆกระทรวงศึกษาธิการต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้
“เปรียบเทียบระบบการประเมินเหมือนการขับรถ ที่อาจมีข้อมูลเทคนิคเป็น 100 ชนิด แต่หน้าปัดรถมีระบบเพียงไม่กี่อย่างที่สำคัญที่ทำให้เราขับรถไปได้ด้วยดี เช่นเดียวกับการประเมินต่อไปนี้ตัวชี้วัดของการประเมินจะมีเพียงไม่กี่ตัว ที่บ่งบอกว่าการจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับภารกิจของโรงเรียนนั้นๆ แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะใช้มาตรฐานเดียวกัน”
รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดโรดแม็ปว่าภายใน 3 เดือนจะต้องกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของงานให้เสร็จสิ้น จากนั้นอีก 3 เดือนจะทำงานร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อให้ตัวชี้วัดไปด้วยกัน และอีก 3 เดือนสุดท้ายจะทดสอบก่อนที่จะนำมาใช้จริง แต่หากตัวชี้วัดหรือเกณฑ์การประเมินยังออกมาในรูปแบบเดิมๆ ยังไม่เกิดประโยชน์ก็คงต้องขยายเวลาโรดแม็ป เรื่องนี้ต้องทำให้ดีและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อน โดยระบบการประเมินใหม่นี้จะต้องส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปการศึกษา จึงจะถือว่าการปฏิรูประบบประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาเสร็จสิ้นลง.
ขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 17 พ.ย. 2558 05:45 น.