เล็งแก้ช.พ.ค.คนค้ำเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เล็งแก้ช.พ.ค.คนค้ำเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ในส่วนของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)ได้ให้นโยบายไปว่าการรับรองเงินเดือนของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะนำไปใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ต้องรับรองตามความเป็นจริง หากรับรองเท็จผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนเรื่องการค้ำประกันการกู้เงินที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ การจับคู่ค้ำประกันกันเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะผู้ที่จะค้ำประกันได้จะต้องเครดิตดีและมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ ดังนั้น ตนจึงได้ให้นโยบายไปว่า ต่อไปคนที่จะค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้อื่นได้ต้องมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ ซึ่งในส่วนของโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) คงต้องมีการปรับแก้ระเบียบการค้ำประกันที่ให้ผู้ค้ำต้องมีเงินเดือนสูงกว่าผู้กู้ด้วย
"การให้คนค้ำต้องมีเงินเดือนสูงกว่าคนกู้ จะทำให้คนค้ำไม่สามารถวนกลับมากู้โดยให้คนที่ตนเองไปค้ำไว้มาค้ำตนเองได้ จะต้องไปหาคนที่มีเงินเดือนสูงกว่ามาค้ำให้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้เป็นไปได้ยากขึ้น ส่วนกรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย อดีตรมว.ศึกษาธิการ ให้ชะลอโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. 7 ไปก่อน นั้น คงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพราะการปล่อยกู้มีทั้งข้อดีข้อเสีย เนื่องจากอาจมีครูที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินอยู่ ดังนั้นจึงอาจไม่ปิดประตูทั้งหมด แต่การพิจารณาปล่อยกู้จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ยากขึ้น รวมถึงต้องไปดูจำนวนวงเงินกู้ที่เหมาะสมด้วย" ปลัด ศธ.กล่าว
รศ.นพ.กำจร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้ตนรับผิดชอบเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษานั้น ตนได้หารือกับ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แล้ว โดยในส่วนของ กศน.ให้สอดแทรกไว้ในทุกหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ครูทุกคนต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มต้นที่ต้องทำบัญชีครัวเรือนเป็นและนำไปใช้ได้ จากนั้นต้องเผยแพร่ต่อและสอนให้แก่นักเรียน โดยในภาคเรียนนี้ให้เริ่มเรียนรู้และให้ปฏิบัติจริงตั้งแต่ภาคเรียนหน้าเป็นต้นไป.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 พ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)