ครูหนี้ท่วม
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ตีแสกหน้า ฝ่าสมรภูมิข่าวครูหนี้ท่วม
จากการตรวจสอบของ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่า เบื้องต้นมีครูกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินประมาณ 460,000 คน เป็นเงินประมาณ 500,000 ล้านบาท
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพิ่งรู้เหมือนกันว่า พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ หรือคุณครูบ้านเราเป็นหนี้สินรวม ๆ กันถึง 1.2 ล้านล้านบาท
ไม่รู้ว่าเพราะอย่างนี้หรือเปล่า คุณภาพการศึกษา ระบบการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนบ้านเราจึงไปไม่ถึงไหน
มาตรฐานการศึกษา ระดับสติปัญญาของเด็กนักเรียนจึงไม่อาจทัดเทียมนานาอารยประเทศ เพราะบรรดาครูบาอาจารย์บางคนมัวเอาเวลาไปเคร่งเครียด คิดวิตกกับหนี้ท่วมหัว มากกว่าที่จะสนใจ ใส่ใจการศึกษาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์
จากการตรวจสอบของ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่า เบื้องต้นมีครูกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินประมาณ 460,000 คน เป็นเงินประมาณ 500,000 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบ และหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 700,000 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาฯพยายามแก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยการเปิดให้ครูมาลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูกับธนาคารออมสินในระยะแรก 21,680 ราย
แบ่งเป็นลูกหนี้วิกฤติรุนแรงที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดี 900 ราย ลูกหนี้ใกล้วิกฤติ 780 ราย ที่เหลือเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 12 งวด และลูกหนี้ปกติประมาณ 20,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้ทั้งหมด 34,000 ล้านบาท
ส่วนระยะที่ 2 สิ้นสุดกำหนดการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข ยังไม่รู้ว่าเป็นยอดหนี้เท่าไหร่
ความจริงจะว่าไปแล้ว มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูกับธนาคารออมสินคงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพียงแต่เป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงศึกษาฯคิดออกในตอนนี้
มีข้อน่าสังเกตว่า การกู้เงินของครูจากธนาคารออมสินนั้น ส่วนมากกู้ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
มีครูที่กู้ยืม ประมาณ 60,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีแนวโน้มจะไม่ใช้หนี้เอง แต่จะให้กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ชำระหนี้แทนให้
ซึ่งถูกต้อง-ไม่ถูกต้อง ผมไม่ทราบ แต่โดยหลักการพื้นฐานทางจริยธรรม ศีลธรรมแล้ว ใครก่อหนี้ต้องใช้หนี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นครูมีหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคม ประเทศชาติ ควรจะรู้แก่ใจดียิ่งกว่าอาชีพใด ๆ
คงต้องฝากเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาฯช่วยตามเรื่องนี้ โดยเฉพาะ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดศธ. และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ.ที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นข้อห่วงใยของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.
ก็เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เล็ก ๆ หนี้ก้อนโตซะขนาดนั้น และมีแนวโน้มจะไม่ได้คืน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงนำเรื่องนี้เข้าไปหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
ผมเองไม่อยากเดาว่าจะเอายังไง? แต่คงไม่ใช่การตัดหนี้ หรือยกหนี้ให้แน่นอน เพราะเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก และธนาคารออมสินเองมีหน้าที่บริหารเงินฝากของประชาชน ไม่ใช่มีหน้าที่ยกหนี้ให้ใคร
ความจริงผมเคยคิดมาตลอดว่า ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีวุฒิภาวะสูงกว่าวิชาชีพอื่น เพราะต้องทำหน้าที่สั่งสอนนักเรียน ลูกศิษย์ ลูกหา เพื่อให้เติบใหญ่เป็นคนดี มีคุณภาพ เพื่ออนาคตของประเทศ
แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป ครูเป็นหนี้ท่วมรวม ๆ กัน 1.2 ล้านล้านบาท
ถึงวันนี้คงไม่หวังอะไรแล้วกับอนาคต.
สมิหลา
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา 1:28 น.