LASTEST NEWS

14 ม.ค. 2568(( รวมลิงก์ )) ประกาศตำแหน่งว่างรับย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS ประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 14 ม.ค. 2568รร.ลงทะเบียน TRS แล้ว 26,038 แห่ง มีตำแหน่งว่างแค่ 1,691 แห่ง 14 ม.ค. 2568ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2568 13 ม.ค. 2568โรงเรียนเพชรละครวิทยา รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาคอมพิวเตอร์ เงินเดือน 12,000.- บาท  ตั้งแต่วันที่ 13 – 19 มกราคม 2568 13 ม.ค. 2568(( รวมลิงก์ )) ประกาศตำแหน่งว่างรับย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS ประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 13 ม.ค. 2568คำขวัญวันครูแห่งชาติ ปี 2568 "ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย" 13 ม.ค. 2568โรงเรียนวัดป่าประดู่ รับสมัครครูอัตราจ้างคณิตศาสตร์ เงินเดือน 15,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 20 มกราคม 2568 12 ม.ค. 2568สพม.สมุทรปราการ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชีเขตอื่น) จำนวน 35 อัตรา - รายงานตัว 13 มกราคม 2568 12 ม.ค. 2568สพป.ปทมธานี เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 4 จำนวน 20 อัตรา - รายงานตัว 13 มกราคม 2568 11 ม.ค. 2568​​​​​​​สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดสอบพนักงานราชการ วุฒิปริญญาตรี เงินเดือน 18,000.- บาท สมัครได้ตั้งแต่ 16-22 มกราคม 2568

แบงก์เปิดศึกสินเชื่อบ้าน หวังชิงเค้กมาตรการรัฐบาล

  • 03 พ.ย. 2558 เวลา 15:13 น.
  • 4,270
แบงก์เปิดศึกสินเชื่อบ้าน หวังชิงเค้กมาตรการรัฐบาล

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

รัฐบาลยังใช้ "ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)" เป็นเครื่องมือ เพื่อให้มาตรการของรัฐ สัมฤทธิผลตามที่วางไว้ โดยอัดวงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านทันที

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ถูกปลุกให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ภายใต้การนำของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งแต่เข้ามากุมบังเหียนก็เริ่มงัดสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะหวังจะพึ่งส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเก่าก่อนก็คงจะยาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่จีนเศรษฐกิจส่อเค้าแย่ดังนั้นปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากภายในประเทศเป็นหลัก

โดยหลังจากการเดินหน้าปั้นมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย และเอสเอ็มอีไปแล้ว ก็ได้ฤกษ์ทำคลอด มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ หวังช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดจำนองจาก1% เหลือ 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เพื่อเร่งให้เกิดการทำนิติกรรมโดยเร็ว และลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก2% เหลือ0.01%เป็นเวลา6เดือน สำหรับการซื้อบ้านทุกราคา เริ่มตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงส้ินเดือน มี.ค. 59

รวมถึงมาตรการลดภาระคนซื้อบ้านไม่เกินราคา3ล้านบาท ด้วยการนำเงินสัดส่วน20%ของราคาซื้อบ้านไปทยอยหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเวลา 5 ปี ทำให้ราคาบ้านลดลง 20%แต่ผู้ได้รับสิทธิจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า5ปี โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่ 19 ต.ค. 58–31ธ.ค. 59

นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้ “ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)” เป็นเครื่องมือ เพื่อให้มาตรการของรัฐ สัมฤทธิผลตามที่วางไว้ โดยอัดวงเงิน10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านทันทีสำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิเดือนละ30,000บาท และให้สินเชื่อสูงถึง3ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย ปีแรก3.5%ปีที่สอง4.25%และปีที่สาม เอ็มอาร์อาร์ลบ0.75%หรือโดยเฉลี่ยแล้ว ถือว่าดอกเบี้ยต่ำกว่า ตลาด0.25%จากปัจจุบันเอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ 6.75%กู้ได้นาน 30 ปี

ทั้งนี้ แค่เปิดโครงการไปเพียง 2 วัน ก็มีลูกค้ามายื่นขอกู้แล้ว4,000ราย วงเงินกู้5,000ล้านบาท หรือเฉลี่ยขอกู้รายละ2ล้านบาท คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ วงเงินที่เตรียมไว้10,000ล้านบาท น่าจะเต็มวงเงินซึ่งจากการตอบรับที่ดีดังกล่าว ทำให้ ธอส. เล็งหารือกับกระทรวงการคลังขยายวงเงินปล่อยกู้เพิ่มอีก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ธอส. เล่นแคมเปญนี้ในตลาดไม่ทันข้ามสัปดาห์ “ธนาคารออมสิน” ก็โดดร่วมวงเข้ามาสำทับอีกระลอก ด้วยการออกแคมเปญ “สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน” อัดวงเงิน 10,000 ล้านบาท เหมือนกับ ธอส. เป๊ะเว่อร์ โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้กำหนดรายได้สุทธิไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนให้กู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ปีที่ 1 อยู่ที่ 3.5%ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ 4.25%ต่อปี และปีที่ 3 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอารอาร์)-1 ต่อปี จากปัจจุบันเอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ 7.45%ต่อปี ซึ่งน่าจะช่วยปลุกให้การแข่งขันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงมากขึ้น

แต่ดีกรีความเข้มข้นในสงครามสินเชื่อบ้านในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า จะดุเด็ดเผ็ดมันขนาดไหนนั้น ไฮไลต์ที่ต้องจับตา อยู่ที่ว่าธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกินฐานลูกค้าประชาชนในวงกว้าง จะกระโดดเข้ามาร่วมเปิดศึกชิงเค้กชิ้นนี้ด้วยหรือเปล่า เบื้องต้น บรรดานายแบงก์หลาย ๆ ค่าย ก็ยังมีทั้งประเภทกลัว ๆ และกล้า ๆ

โดยที่เห็นแสดงเจตจำนงชัดเจนลงสนามมาแข่งกับแบงก์รัฐ คือ “ค่ายใบโพธิ์ หรือไทยพาณิชย์” ที่จับมือกับพันธมิตร หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับลูกค้าที่กู้ซื้อบ้าน และซื้อประกันแบบพรีเมียมเซต โดยมีการเบิกจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ 1 พ.ย.-31 ธ.ค. นี้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหลั่นกันไป ตามวงเงินกู้ โดยหวังว่าจะผลักดันยอดสินเชื่อปลายปีนี้ 110,000 ล้านบาท จากช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) โกยยอดสินเชื่อไปแล้ว 85,000 ล้านบาท

ส่วนที่กำลังปั๊มแคมเปญออกมาแข่งอีกค่าย คือ “แบงก์วายุภักษ์ หรือกรุงไทย” คาดว่าจะเห็นเป็นรูปร่างชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าเพราะกำลังจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขให้ลงตัวก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยอดสินเชื่อปีนี้ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 6%ขณะที่แบงก์สัญชาติมาเลเซียอย่าง “ซีไอเอ็มบีไทย” ก็จะเข้ามาทำตลาดในกลุ่มนี้เช่นกัน จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำมาก่อนและอีกไม่นานคงจะเห็นแคมเปญออกมาให้ประจักษ์สายตากันบ้าง

อย่างไรก็ดี มีหลายแบงก์ที่เมินร่วมแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้ เช่น กสิกรไทย เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะรุกที่อยู่อาศัยระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป และเน้นการมีผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการลูกค้าอย่างหลากหลาย ดังนั้นการเตรียมตัวของค่ายนี้คือเร่งการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อให้เร็ว และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าที่มาขอสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งแบงก์นี้ทำตลาดได้ดีตั้งแต่ต้นปีเห็นจากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 9 เดือนแตะ 32,000 ล้านบาทแล้ว และเหลืออีกไม่กี่เดือนเชื่อว่าสินเชื่อยังได้ตามแผนที่วางไว้ 40,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ แบงก์บัวหลวง หรือธนาคารกรุงเทพ ที่ขอโบกมือลาบ๊ายบาย ไม่เข้าร่วมเหมือนกัน โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่ตลาดเป้าหมาย และดอกเบี้ยเงินกู้ที่ให้กับลูกค้าในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นอกจากเหตุผลเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรง จนไม่สนใจจะเข้าแข่งขันแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง การไม่เข้ามาลงแข่งในตลาดกลุ่มนี้ของบางธนาคาร ก็มองได้ว่า เป็นเพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่เพิ่งจะเริ่มทำงานและสร้างฐานะครอบครัว หรือกลุ่มอาชีพอิสระที่แบงก์มองว่า รายได้อาจไม่แน่นอน เห็นจากช่วง 1-2ปี ที่ผ่านมา การปฏิเสธสินเชื่อบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะภาระหนี้ของลูกค้าที่สูงเกินตัว ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อแบงก์เพิ่มเป็นเงาตามตัว

ล่าสุดธนาคารบางแห่งอนุมัติสินเชื่อเพียง 50%ของจำนวนลูกค้าที่ยื่นสินเชื่อเข้ามาทั้งหมด และปฏิเสธไปถึง50%จากที่ก่อนหน้ามียอดอนุมัติสินเชื่ออยู่ราว60-70%และปฏิเสธ 30-40% โดยเป็นผลจากการที่ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารายย่อยมีการก่อหนี้สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อจากโครงการรถคันแรกไปมากแล้วซึ่งหากภาระหนี้สูงกว่า 40%ของรายได้ ก็จะทำให้แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ เพราะถ้าปล่อยไปแล้วลูกค้าผ่อนค่างวดต่อไปไม่ไหวก็อาจทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม และเป็นภาระกับแบงก์ในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะช่วยส่งผลดีระยะสั้นต่อประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริง ๆ และดีต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะระบายสต๊อกได้เพิ่มขึ้น และมีโอกาสหนุนสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ให้เติบโตถึง 10.5% ซึ่งเป็นตัวเลขสองหลักติดต่อกันเป็นปีที่ 9 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 8.5-9.5%ก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เริ่มชะลอลงก่อนหน้านี้ อาจจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแม้จะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวได้เช่นกัน.

สุกัญญา สังฆธรรม

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เวลา 5:49 น.

  • 03 พ.ย. 2558 เวลา 15:13 น.
  • 4,270

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^