LASTEST NEWS

21 ธ.ค. 2567ปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปี 2568 20 ธ.ค. 2567สพป.บึงกาฬ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชี สพม.หนองคาย) จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 20 ธ.ค. 2567​​​​​​​กรมบัญชีกลาง เปิดสอบพนักงานราชการ 27 อัตรา ไม่ต้องผ่าน ภาค ก ตั้งแต่ 3 - 24 มกราคม 2568 19 ธ.ค. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย เขตอื่น ใช้บรรจุ 2 วิชาเอก 13 อัตรา รายงานตัว 26 ธันวาคม 2567 19 ธ.ค. 2567สพป.มหาสารคาม เขต 2 เผยบัญชีตำแหน่งว่างใช่บรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 5  19 ธ.ค. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 45 อัตรา 18 ธ.ค. 2567ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 10/2567 18 ธ.ค. 2567สพม.สงขลา สตูล เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 10 อัตรา - รายงานตัว 24 ธันวาคม 2567 18 ธ.ค. 2567กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 21 อัตรา สมัครทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 21 มกราคม 2568 18 ธ.ค. 2567 โอกาสดีมาถึงแล้ว!  ทุนเรียนต่อครู สควค. ม.เกษตรศาสตร์ เปิดรับสมัครทั่วประเทศ จบแล้วบรรจุเป็นครูทันที! สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 ม.ค. 2568

เช็กความพร้อม! ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 3,831 โรง ดีเดย์ 2 พ.ย. นี้

  • 01 พ.ย. 2558 เวลา 08:48 น.
  • 4,935
เช็กความพร้อม! ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 3,831 โรง ดีเดย์ 2 พ.ย. นี้

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

เช็กความพร้อม! ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 3,831 โรง ดีเดย์ 2 พ.ย. นี้

ภายหลังจากที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Moderate Class More Knowledge" โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เด็กเครียดจนเกินไป ซึ่งจะเริ่มต้นนำร่องก่อน 3,831 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558

นโยบาย 'ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้' หรือที่หลายคนเรียกกันว่า 'เลิกเรียนบ่ายสอง' นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เลิกเรียนและกลับบ้านในเวลาบ่ายสอง แต่นโยบายนี้จะเป็นการปรับการเรียนการสอน โดยหลังช่วงเวลาบ่ายสอง ทางโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมตามความสนใจของเด็ก เพื่อพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ที่เด็กสนใจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจกับหลักสูตรดังกล่าว พร้อมๆ กับสอบถามไปยังโรงเรียนและเด็กนักเรียนว่ามีความพร้อมแค่ไหนกับหลักสูตรนี้

 
การเรียนภาควิชาการอย่างหนัก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
 
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
เจาะหลักสูตร Head-Heart-Hand

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการปรับลดชั่วโมงเรียนบางวิชาให้น้อยลง แต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็กควรเรียนรู้ ซึ่ง 8 กลุ่มสาระจะยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง และหลังจากบ่ายสองจะให้เด็กมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติมากขึ้น รู้จักการคิดวิเคราะห์ฝึกสมอง ตามหลัก Head-Heart-Hand โดยมีรูปแบบกิจกรรม แบ่งเป็น 4 หมวด 16 กลุ่ม ดังนี้

1.กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร) ประกอบด้วย 3 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว, กิจกรรมนักเรียน, กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

2.กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กรู้จักฝึกสมองการคิดแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี หรือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้จากในห้องเรียน ประกอบด้วย 5 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร, พัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง, พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา, พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี, พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น สนุกกับภาษาไทย นิทานหรรษา หุ่นยนต์วิเศษ ศิลปะสร้างสรรค์ การสร้างงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 
ปรับลดชั่วโมงเรียนบางวิชา แต่ไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็กควรเรียนรู้
 
เริ่มนำร่อง 'ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้' ใน 3,831 โรงเรียนทั่วประเทศ
3.กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม เพื่อปลูกฝังค่านิยมจิตสำนึกในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และปลูกฝังความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม, ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์, ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม, ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และหวงแหนสมบัติของชาติ เช่น นักอนุรักษ์น้อย ตามรอยพ่อ ลูกเสือเนตรนารี บำเพ็ญประโยชน์ ภูมิใจในบ้านเกิด สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

4.กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กได้ฝึกอาชีพในระยะสั้น เพิ่มทักษะทางอาชีพ รวมถึงพัฒนาความสามารถด้านการใช้ชีวิต ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของแต่ละคน ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ตอบสนองความสนใจความถนัด ความต้องการของผู้เรียน, ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ ทรัพย์สินทางปัญญา, อยู่อย่างพอเพียง มีวินัยทางการเงิน พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต, สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย

สำหรับวิธีการวัดผลเด็กนั้น รมว.ศึกษาธิการ กำหนดเป็นเบื้องต้นว่า จะประเมินด้านวิชาการ และการประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู

 
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
 
ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลาเรียนวิชาการค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทั้งหมดจะทำให้เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน คือ ทักษะด้านความคิดวิเคราะห์จากการปฏิบัติ เด็กจะได้เป็นคนมีจิตใจดีงาม มีจิตสำนึกจากการทำกิจกรรม ได้สัมผัสอาชีพหรือกิจกรรมกีฬาและจะรู้ว่ามีความชอบและความถนัดแบบไหน ที่สำคัญที่สุดคือ เด็กจะไม่เครียด และมีความสุขในสิ่งที่อยากจะทำ เรียนท่ามกลางความชอบและความสุข

เช็กความพร้อม โรงเรียนนำร่อง ดีเดย์ 2 พ.ย. นี้!

ทาง สพฐ. ได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีโรงเรียน 3,831 โรง เข้าร่วมนำร่องในภาคเรียนที่ 2 นี้ ได้แก่ โรงเรียนสังกัด สพป. จำนวน 3,437 โรง โรงเรียนสังกัด สพม. จำนวน 384 โรง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 10 โรง 

หลังจากเริ่มนำร่องโครงการดังกล่าวใน 3,831 โรงเรียนแล้วนั้น จะมีการประเมินรายเดือนไปเรื่อยๆ ว่า มีปัญหาอะไรบ้าง วุ่นวายมากแค่ไหน จัดกิจกรรมยากหรือไม่ และในช่วงเดือนเมษายน จะมีการประเมินดูว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เด็กมีความสุขและมีพัฒนาการดีขึ้น รวมทั้งมีการผ่อนคลายความเครียดของเด็ก โดยปีหน้าจะขยายผลอีกครั้งว่านโยบายเป็นอย่างไรก่อนที่จะประกาศให้ใช้ทั่วประเทศ

 
เด็กจะได้รับการพัฒนาทั้งทักษะด้านความคิดวิเคราะห์จากการปฏิบัติ เด็กจะได้เป็นคนมีจิตใจดีงาม มีจิตสำนึกจากการทำกิจกรรม
 
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อาจตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มประสบการณ์ในสิ่งที่ตนเองสนใจ
ด้าน นายสุทธิพงษ์ โมราวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กล่าวถึงความพร้อมในฐานะเป็น 1 ใน 3,831 โรงเรียนนำร่องของนโยบายดังกล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนนำร่อง ซึ่งโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีในฐานะเป็นโรงเรียนนำร่อง ได้เตรียมเรื่องโครงสร้างเวลาเรียน และเตรียมการในเรื่องกิจกรรมบูรณาการที่จะจัดให้หลังจากเลิกเรียนแล้ว

“เด็กๆ ในโรงเรียนทราบเรื่องนโยบายแล้ว โดยครูได้ประกาศตั้งแต่วันแรก ซึ่งกระแสตอบรับของเด็กๆ อยู่ในระดับดี เพราะปกติโรงเรียนได้จัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนอยู่แล้วทั้งดนตรี กีฬา และนันทนาการ ส่วนอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ต้องรอดูว่าหลังจากปฏิบัติจริง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ขณะที่ นางสุรีรัตน์ สะสุนทร รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ โรงเรียนสารวิทยา ให้ข้อมูลการเตรียมความพร้อมรับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ว่า สำหรับโรงเรียนสารวิทยา เด็กจะเรียนวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรจนถึง 14.10 น. และหลังจาก 14.10 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 17.00 น. จะเป็นกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ โดยจะบูรณาการระหว่างชมรมกับกิจกรรม ซึ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เด็กจะเข้ากิจกรรมตามความสนใจของตนเอง ตามปกติจะกลับบ้านเวลา 14.10 น. หลังจากนั้นจะเป็นการจัดกิจกรรม แต่ถ้าเด็กจะอยู่ทำกิจกรรมต่อ ทางโรงเรียนจะจัดให้ถึง 17.00 น. ส่วนใหญ่ 15.00 น. เด็กจะทยอยกลับบ้านกัน

 
ปลูกฝังค่านิยมจิตสำนึกในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และปลูกฝังความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
 
กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กรู้จักฝึกสมองการคิดแก้ปัญหา
สำหรับกิจกรรมจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะทางร่างกาย ทางกลุ่มสุขศึกษาและพลศึกษาจะเป็นผู้ดำเนินการ เปิดชมรมกีฬาต่างๆ ส่วนกิจกรรมการคิดวิเคราะห์สมรรถนะการเรียนรู้ทั้งหลาย กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษาต่างๆ จะเป็นผู้ดูแล และกิจกรรมเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพ กลุ่มงานการอาชีพจะเป็นผู้ดำเนินการ

ในเรื่องของการวัดและประเมินผลกิจกรรมนั้น นางสุรีรัตน์ อธิบายว่า “ไม่ได้ทำแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะถือเป็นความยืดหยุ่น เด็กจะได้ความสามัคคีได้รู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง และอาจารย์ได้คอยช่วยเหลือให้เด็กแต่ละคนแสดงศักยภาพและความสามารถในสิ่งที่ตนเองสนใจ ถ้าเป็นชมรมฝึกอาชีพจะประเมินในเรื่องผลงาน ส่วนแบบประเมินแสดงความเห็นต้องมีการประเมินผลอยู่แล้วว่ามีความพึงพอใจอย่างไร ทางทีมวิชาการมองว่าให้มันเกิดประโยชน์ต่อตัวนักเรียน โดยที่นักเรียนเป็นคนเลือกทำกิจกรรมในแบบที่ชอบและสนใจ ความสุขกับความพร้อมจะมาเอง”

 
กิจกรรมของวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กเกิดการปฏิบัติและมีความสนุกสนาน
 
การวัดผลเด็กจะประเมินด้านวิชาการ และประเมินความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง และครู
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า ได้แจ้งเด็กบ้างหรือยังและมีผลตอบรับอย่างไรบ้าง รองผอ. ร.ร.สารวิทยา ตอบว่า “ครูได้แจ้งเด็กไปแล้วเด็กเองก็ชอบ ครูเองก็ชอบ เนื่องจากว่าปกติจะอัดวิชาเยอะ ถ้าลดเฉพาะวิชาที่ไม่ใช่วิชาหลักลงแล้วไปเพิ่มในกิจกรรมต่างๆ จะถูกเทรนด์กับเด็กสมัยนี้ โดยหลักการแล้วครูคิดว่าดีมากๆ ส่วนกระแสตอบรับเด็กๆ กรี๊ดลั่น เด็กชอบ เพราะว่าเมื่อก่อนต้องทำเกรด 12 วิชา ลดลงเหลือ 10 วิชา จากเดิมที่ ม.ปลาย ต้องเรียนถึงคาบ 9 พอปรับลดรายวิชาลงทำให้เรียนถึงแค่คาบ 7-8 มีเวลาทำกิจกรรมมากขึ้น และยังได้เน้นย้ำครูผู้สอนให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติมากขึ้นด้วย”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ให้แก่อนาคตของชาติได้ ด้วยงบประมาณที่รัฐบาลมอบให้กระทรวงศึกษาธิการค่อนข้างมาก จนได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลจัดสรรงบให้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้งบไปถึง 498,160.4 ล้านบาท และภายในไม่ถึง 10 ปี งบประมาณรายจ่ายกระทรวงศึกษาเพิ่มขึ้นเกือบ 200,000 ล้านบาทด้วย เม็ดเงินเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนช่วยหนุนเด็กไทยก้าวไกลสู้กับประเทศอื่นได้.

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่  1 พ.ย. 2558 เวลา 05:30 น.

 
  • 01 พ.ย. 2558 เวลา 08:48 น.
  • 4,935

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^