"ดาว์พงษ์" รับข้อเสนอแยกสพฐ. ฟื้นกรมวิชาการแก้ "อค." ขาดทุน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ดาว์พงษ์" รับข้อเสนอแยกสพฐ. ฟื้นกรมวิชาการแก้ "อค." ขาดทุน26 ต.ค. 58 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ. ) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมซุปเปอร์บอร์ดพิจารณา อาทิ การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ การโอนย้ายอาชีวศึกษาเอกชนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ตนมีแผนการดำเนินงานอยู่แล้วว่าจะปฏิรูปอะไร อย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบการจัดการศึกษา การปฏิรูประบบริหาร การปฏิรูปคน การปฏิรูประบบงบประมาณ และการปฏิรูปโครงสร้าง ที่ได้รับข้อเสนอทั้งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มารวมกับสิ่งที่ ศธ.คิด อย่างไรก็ตามในส่วนของการปฏิรูปโครงสร้างขณะนี้ยังไม่ลงตัว ตนคงต้องหารือร่วมกับผู้บริหารองค์การหลักของ ศธ.เพื่อหาข้อสรุปก่อน จากนั้น ถึงจะนำเสนอซุปเปอร์บอร์ดก่อนที่จะขับเคลื่อนต่อไป
"ยอมรับว่ามีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้าง ศธ.จริง แต่ผมไม่ได้นึกคิดไปเอง เป็นข้อเสนอของคนใน ศธ. ซึ่งมีการเสนอมาหลายแบบ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือควรจะแยกคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ออกมาเป็นกรมวิชาการ เหมือนในอดีต ซึ่งผมได้ตั้งคำถามกลับไปว่า มีเหตุผลความจำเป็นอะไรถึงต้องกลับมาเป็นกรมวิชาการเหมือนเดิม ซึ่งทางผู้บริหาร ศธ. เห็นว่าเมื่อมีนโยบายเปิดเสรีก็มีสำนักพิมพ์เอกชนเข้ามาแข่งขัน เนื้อหาในหนังสือเรียนแม้จะมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานโดย สพฐ. แต่ก็ยังมีไขมันส่วนเกิน ดึงดูดให้เลือกซื้อหนังสือเรียนจากสำนักพิมพ์ของตนเอง จึงต้องการให้ฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาดูแลการจัดทำหนังสือให้ได้มาตรฐาน" รมว.ศธ. กล่าว
ทั้งนี้ จากในส่วนของกรมวิชาการแล้วจะมีการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่รวมภารกิจกับอาชีวศึกษาเอกชน ส่วนในองค์กรหลักอื่นๆ อย่าพึ่งให้ตนตอบในตอนนี้ เพราะการปรับโครงสร้างต้องเกี่ยวพันกันไปทั้งหมด โดยขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะปรับโครงสร้างทั้งหมดหรือเฉพาะจุด
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ หัวหน้าคณะทำงานกำหนดแนวทางการประเมินประสิทธิภาพและติดตามการดำเนินงานขององค์การค้า(อค.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เสนอให้สพฐ. ขอความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด สั่งซื้อหนังสือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1-6 ใน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา จากองค์การค้า(อค.) แทนการสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์เอกชน เพื่อให้เด็กได้ใช้ตำราที่มีเนื้อหาเดียวกันและแก้ปัญหาการจัดส่งหนังสือล้าช้านั้น ตนได้มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับคณะทำงานฯแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทั้งสหภาพแรงงาน อค. และผู้ประกอบการ ซึ่งตนได้ให้โจทย์กับนายธเนศพลไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องแก้ปัญหาขาดทุนของ อค.ให้ได้เร็วที่สุด และที่สำคัญจะต้องไม่ผิดกฎหมาย
ขณะที่ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การขอความร่วมมือกับโรงเรียนในการสั่งซื้อหนังสือ 4 กลุ่มสาระวิชาฯ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนับสนุนการดำเนินการแก้ปัญหาของ อค. แต่สพฐ. คงต้องไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง และดูรายละเอียดต่างๆ ให้รอบด้านด้วย เพราะการสั่งซื้อหนังสือจะมีสัดส่วนของสำนักพิมพ์เอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า