"ประจิน" สั่งยึดเกณฑ์รอบ 3 ประเมิน ร.ร. สมศ.รุกทบทวนทันวัดผล ม.ค.59
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ติงศึกษาไทยทำเด็กเรียนเยอะรู้น้อยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมนิทรรศการไบเทค บางนา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2558 หัวข้อ “ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การวัดและประเมินผลเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกองค์กรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้ทราบผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานอย่างแท้จริง โดยต้องเป็นการประเมินจากองค์กรภายนอกที่มีมาตรฐานเพื่อให้ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ ดังนั้น การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559-2563) จำเป็นต้องเดินหน้า แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเกณฑ์และตัวบ่งชี้ เพื่อให้มีความเหมาะสม และไม่สร้างภาระให้แก่ครูอาจารย์มากเกินไป ทั้งนี้ การประเมินรอบสี่จะนำรูปแบบออนไลน์มาใช้ แต่หากสถานศึกษาใดยังไม่พร้อมก็ให้ใช้รูปแบบเดิมไปก่อน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาเพื่อรองรับการประเมินรูปแบบออนไลน์ที่จะใช้เต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2561 ด้วย
ด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ.กล่าวว่า สมศ.ได้เตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ทบทวนเกณฑ์และตัวบ่งชี้ที่จะใช้ในการประเมินรอบสี่แล้ว รอเพียงคณะกรรมการจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้ามาร่วมพิจารณา ยืนยันว่าทันการประเมินรอบสี่ที่จะเริ่มในเดือน ม.ค.2559 ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจินได้มอบนโยบายว่าการประเมินรอบสี่ขอให้นำเกณฑ์และตัวบ่งชี้การประเมินรอบสามมาปรับใช้ เพราะสถานศึกษามีความรู้ และเข้าใจอยู่แล้ว จะได้ไม่เป็นภาระแก่ครูอาจารย์ แต่การประเมินต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น
บ่ายวันเดียวกันมีการเสวนาหัวข้อ “คุณภาพการศึกษามีปัญหา อะไรคือสาเหตุ” ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำเพราะมีการสอนแบบเหมาจ่าย ไม่ได้ส่งเสริมตามศักยภาพ หลักสูตรไม่มีความยืดหยุ่น มีวิชาบังคับมากเกินไป เด็กต้องเรียนในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ทำให้ไม่เห็นความสำคัญ
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพ จึงต้องเตรียมคนให้พร้อมเผชิญกับโลกอนาคตที่มีความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เป้าหมายในการผลิตคนต้องชัดเจน ที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนเยอะแต่รู้น้อย ปัญหาอยู่ที่หลักสูตรที่ต้องกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์แทนท่องจำ ตนเห็นด้วยกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของ ศธ. แต่ต้องปรับหลักสูตรก่อนถึงจะรู้ว่าต้องลดอะไร นอกจากนี้ต้องปรับการเรียนการสอน และครูผู้สอนให้เข้าใจการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ไม่ยัดเยียดสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เด็ก แต่ต้องรู้จักศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนมองว่าครูมีความสำคัญหากครูยังเอาตัวเองไม่รอด การศึกษาไทยไม่โงหัวแน่นอน.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 15 ต.ค. 2558 06:01 น.