ยุบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชนดัน "สอศ" เป็น "สำนัก" กำกับดูแล
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยุบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชนดัน "สอศ" เป็น "สำนัก" กำกับดูแลเกศกาญจน์ บุญเพ็ญ : รายงาน
"บิ๊กหนุ่ย"โยนหินถามทาง ยุบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชน ไปอยู่ในกำกับของ "สอศ." มีสถานะเป็น "สำนัก" จากเดิมมี สช.กำกับดูแล อ้างเพื่อให้การจัดการศึกษาและบริหารงานเป็นเอกภาพ พร้อมมอบการบ้านให้ "อาชีวะเอกชน" ไปเจาะลึกปัญหาในพื้นที่ ค้นหาสาเหตุจำนวนเด็กลด "นายกสวทอ." เผยเอกชนเต็มใจอยู่กับสอศ. ด้าน "เลขาฯ อดินันท์" หนุนเต็มที่แต่ฝากให้ดูแลเรื่องการโอนย้ายบุคลากร กองทุน แนะค่าตอบแทนควรอยู่อัตราเดียวกับอาชีวะรัฐ
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมผู้บริหารและครูวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนและการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 40 การปรับยุทธศาสตร์อาชีวศึกษาเอกชนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง จัดโดยสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีว ศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตัวแทนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 400 คน
"พล.อ.ดาว์พงษ์" เปิดฉากว่า เวลานี้อาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประสบปัญหาจำนวนผู้เรียนลดลง โดยอาชีวะรัฐ 5.3% ขณะที่อาชีวะเอกชนลดลง 27.8% ซึ่งสวนทางกับความต้องการแรงงานของประเทศและบริบทการพัฒนาประเทศและสังคมโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีความต้องการกำลังคนอย่างมาก เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของการลดลงดังกล่าวว่าเกิดจากอะไรที่ทำให้เด็กไม่เลือกเรียนอาชีวศึกษา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการพูดกันมากว่าปัญหาเกิดจากค่านิยม การทะเลาะวิวาทของนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปัญหาในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น และไม่เชื่อว่านี่คือสาเหตุจริงๆ ซึ่งได้มอบหมายอาชีวะรัฐ รวมถึงอาชีวะเอกชนไปเจาะลึกให้ถึงปัญหาแท้จริงเป็นรายพื้นที่เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
ในส่วนที่อาชีวะเอกชนต้องการให้รัฐสนับสนุน ทั้งปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว ให้อิสระทางวิชาการ การขอยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีต่างๆ สวัสดิการและสถานภาพของครูอาชีวศึกษาเอกชนที่ยังแตกต่างจากของรัฐ การที่อาชีวศึกษาเอกชนยัง
ไม่สามารถเปิดสอนระดับปริญญาตรีได้ การให้โอกาสเด็กอาชีวะได้สิทธิ์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้จะไปดูให้ ส่วนเรื่องกู้เงิน กยศ.นั้น จะไปหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะให้สิทธิ์ผู้เรียนอาชีวศึกษากู้ก่อนได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเด็กอาชีวะได้สิทธิ์กู้ยืมน้อยมากในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่เสนอมานั้นขอให้เอกชนไปรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายละเอียดมาเสนออีกครั้งหนึ่ง
"เรื่องที่พูดกันมากคือการดูแลอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แต่วิทยาลัยเอกชนในต่างจังหวัดจะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งต้องยอมรับว่า สพป.ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการอาชีวศึกษา ซึ่งขณะนี้กำลังดูเรื่องการให้อาชีวศึกษาเอกชนไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้การพัฒนาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกันนี้ก็ได้กำหนดเป็นนโยบายด้วยว่าให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน สามารถเข้าไปแนะแนวการศึกษาในโรงเรียนได้ เพื่อให้เด็กรู้จักวิทยาลัย เป็นโอกาสจูงใจให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีพ ซึ่ง ศธ.กำหนดให้เป็นเมนูกิจกรรมตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่ที่สำคัญต้องไม่ไปรบกวนเวลาการจัดการเรียนการสอนของเด็กด้วย" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เพื่อโอนอาชีวศึกษาเอกชนไปอยู่ในกำกับของ สอศ. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.จอมพงศ์ มลคลวณิชนายกสมาคม สวทอ. กล่าวว่า ทางอาชีวศึกษาเอกชนได้ข้อสรุปร่วมว่าจะไปรวมอยู่ในกำกับของ สอศ. มีสถานะเป็นสำนักหนึ่งที่ดูแลการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งการรวมดังกล่าวจะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพของการจัดการศึกษาและมีความชัดเจนในการพัฒนาอาชีวศึกษาไปสู่อนาคต รวมถึงรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกันแล้ว เรื่องการรับนักศึกษาก็จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าสาขาใดรัฐจะผลิต หรือเอกชนจะผลิต ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของประเทศและภาคเศรษฐกิจได้
ขณะที่ อดินันท์ ปากบารา เลขาธิการ คณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับเป้าประสงค์ของ สวทอ. ที่ต้องการย้ายไป อยู่รวมกับสอศ. แต่ก็มีข้อห่วงใยเหมือนคนที่เป็นพ่อแม่แล้วลูกจะออกจากเรือน ดังนั้น ต้องฝากให้ดูแลเรื่องเงินเดือน ผลประโยชน์ค่าตอบแทน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรที่จะย้ายไป ทั้งเรื่องกองทุนสงเคราะห์ กองทุนเงินกู้เพื่อการพัฒนาสถาบัน รวมถึงเงินกู้เพื่อการพัฒนาบุคลากร เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องคิดว่าดูแลอย่างไรเพื่อให้บุคลากรที่ย้ายไปได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญเมื่อย้ายไปแล้วบุคลากรของอาชีวศึกษาเอกชนควรได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่อยู่ในกรอบเดียวกันกับของ สอศ. อย่างไรก็ตาม คิดว่าเมื่อรวมกับสอศ.แล้วจะทำให้การอาชีวศึกษาเกิดความเป็นเอกภาพ ช่วยสร้างคนสร้างชาติได้ตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 12 ตุลาคม 2558