รู้ทัน...หลอกขายประกัน ก่อนสูญเงินออม
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
รู้ทัน...หลอกขายประกัน ก่อนสูญเงินออมโดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์
ไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นฤดูกาลขายประกันชีวิต ที่ตัวแทน พนักงานธนาคาร จะต้องเร่งทำยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ได้รับ เพราะจะมีผลต่อโบนัสและเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือน
ทั้งนี้ จากสถิติสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า ยอดขายประกันชีวิตช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปีจะมีสัดส่วนมากถึง 40% ของยอดขายใหม่ทั้งปี เพราะผู้ซื้อต้องการได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะต้องเป็นประกันชีวิตที่คุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป จะได้รับลดหย่อนภาษีถึง 1 แสนบาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ ชำระเบี้ย 10 ปีขึ้นไป จะได้สิทธิลดหย่อน 2 แสนบาท
นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งเกษียณอายุราชการและได้เงินก้อนจากบำเหน็จ ซึ่งจะมองหาช่องทางลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนที่ดีจากการซื้อประกันชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้สังคมเข็ดขยาด คือ การถูกหลอกให้ซื้อประกันชีวิตโดยไม่เต็มใจ เมื่อมารู้ภายหลังจะขอยกเลิกก็สายเกินไป เพราะการขอยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญาจะทำให้เงินต้นที่ส่งไปก่อนหน้านี้หายเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในปีแรกของการซื้อประกัน
ทั้งนี้ ช่องทางที่เข้าถึงผู้มีเงินฝากได้ง่ายที่สุด และทำให้เกิดการพลาดพลั้งจากการซื้อประกันแบบไม่ได้ตั้งใจมากที่สุด คือ ช่องทางธนาคารพาณิชย์ เพราะแต่ละธนาคารจะมีบัญชีเงินฝาก บัญชีเงินเดือน ของประชาชน เห็นการไหลเข้าออกของเงินทุกบาททุกสตางค์ ขณะที่การขายผ่านตัวแทน ผู้ซื้อจะตัดสินใจอย่างระมัดระวังมากกว่า
ทั้งนี้ เทคนิคที่พนักงานธนาคารนำมาใช้ชักจูงให้ประชาชนซื้อประกันแบบไม่ได้ตั้งใจ ที่พบเห็นบ่อยและมีการร้องเรียนมากในสังคมออนไลน์ รวมถึงร้องเรียนไปที่ คปภ. ประกอบด้วย
การขอร้องให้ซื้ออย่างตรงไปตรงมา โดยพนักงานธนาคารจะขอให้ลูกค้าเงินฝากช่วยซื้อประกันชีวิต เพื่อให้ได้ยอดตามเป้าตามที่หัวหน้ามอบหมายมาและดราม่าต่อว่า ถ้าไม่ได้ตามเป้าจะถูกย้ายไปอยู่สาขาอื่น ซึ่งไกลบ้าน ลำบากต่อการรับส่งลูก เป็นต้น
การทำให้งงแล้วเร่งเซ็นชื่อซื้อประกัน เทคนิคนี้จะพบบ่อยที่สุด ใช้ในกรณีที่ลูกค้าต้องการไปเปิดบัญชีเงินฝาก อาจจะเป็นเงินฝากประจำหรือฝากออมทรัพย์ทั่วไป โดยพนักงานจะเสนอโครงการออมพิเศษที่ได้ผลตอบแทนดีกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป โดยอาจจะเป็นการออมครั้งเดียวหรือออมทุกปี ขณะที่ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นการฝากเงินที่จะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เมื่อตัดสินใจฝากเงินกลับได้กรมธรรม์มาด้วยโดยลูกค้าไม่เอะใจ มารู้ตัวอีกทีเมื่อจะถอนเงินแล้วได้เงินไม่ครบ เพราะถือว่าเป็นการเวนคืนกรมธรรม์ กลายเป็นเรื่องราวร้องเรียนเกิดขึ้นจำนวนมาก
โครงการเงินฝากพิเศษ ได้สิทธิลดหย่อนภาษี บริการอย่างวีไอพี เป็นการเสนอตรงถึงลูกค้าที่มีเงินอยู่ในบัญชีจำนวนมาก ให้ย้ายเข้าโครงการออมเงินที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากทุกแบบ และให้เฉพาะลูกค้ารายพิเศษที่ธนาคารเลือกแล้วเท่านั้น โดยจะได้รับบริการที่ดีกว่าลูกค้าบัญชีเงินฝากทั่วไป แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินกลับถอนไม่ได้ เพราะยังไม่ครบกำหนดหรือได้เงินไม่ครบ
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคใช้เงื่อนไขบังคับ เช่น การขอสินเชื่อจะได้รับอนุมัติต้องทำประกันออมทรัพย์ระยะยาว นอกเหนือจากการประกันสินเชื่อ หรือการเช่าตู้นิรภัยที่ต้องทำประกันออมทรัพย์ระยะยาว
ขณะที่การขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น กฎหมายให้สิทธิลูกค้ายกเลิกได้ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์จากบริษัท ซึ่งจะได้เงินคืนครบทุกบาททุกสตางค์ แต่หากไม่ได้ยกเลิกภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานมากว่าเป็นการซื้อโดยไม่เต็มใจ แถมยังถูกสอบสวนเหมือนเป็นผู้ต้องหา กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะไม่มีการบันทึกเทปเสียงการขายของพนักงานธนาคารไว้ ขณะที่ธนาคารมีหลักฐานที่เป็นเอกสารลายเซ็นลูกค้าครบถ้วน ขณะที่บริษัทประกันก็จะเชื่อถือเอกสารหลักฐานของธนาคารมากกว่าข้อมูลของลูกค้า
นอกจากนี้ ลูกค้าที่เสียหายยังถูกหน่วยงานกำกับดูแล ตอกย้ำ และโยนความผิดให้ ว่าไม่อ่านเงื่อนกรมธรรม์ให้ดี โดยไม่คิดที่จะหาทางแก้ไข หรือตักเตือนให้ฝ่ายที่ต้องการขายประกันให้เปลี่ยนแปลงวิธีการ
เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงต้องระมัดระวังตัวเอง ต้องรู้ทันเทคนิคการโน้มน้าวให้ซื้อประกันของพนักงานธนาคารไว้ เพื่อป้องกันการถูกหลอกซื้อประกันแบบไม่เต็มใจ
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และหน่วยงานกำกับ ก็ไม่ควรมุ่งเน้นแต่ยอดขาย โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของวิธีการ และความเสียหายของลูกค้าที่จะตามมา
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 ตุลาคม 2558 เวลา 09.57 น.