โพลชี้เด็กวอนขอนโยบายลดการบ้าน เสียงส่วนใหญ่หนุนลดเวลาเรียน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โพลชี้เด็กวอนขอนโยบายลดการบ้าน เสียงส่วนใหญ่หนุนลดเวลาเรียนรุกกฎหมายกำหนดห้ามเปลี่ยน รมต.
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงผลการสำรวจโครงการ Education Watch เรื่องการจัดเวลาแห่งความสุขของนักเรียนจากนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดย รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า จากการสำรวจความเห็นนักเรียนไทยทั่วประเทศ จำนวน 2,089 คน แบ่งเป็นนักเรียน ม.ปลาย 48%, ม.ต้น 29.58%, ประถม 21.88% อาชีพผู้ปกครองกระจายทุกอาชีพ อาทิ รับราชการ 21.11% ธุรกิจส่วนตัว 16.99% พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ 76.42% เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยเฉพาะเด็ก ม.ต้น และ ม.ปลาย ส่วนเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง เห็นด้วยมากกว่าเด็กที่มีฐานะต่ำกว่า
รศ.ดร.บัญชากล่าวต่อว่า เมื่อถามว่าการเรียน 5 วิชาหลักช่วงเช้าหนักเกินไปหรือไม่ นักเรียนส่วนใหญ่ 60.51% เห็นว่าหนักเกินไป โดยเฉพาะ ม.ต้นและ ม.ปลาย ส่วนข้อกังวลเรื่องเรียนไม่ทัน นักเรียนส่วนใหญ่ 58.78% ไม่กังวล และ 75.64% เห็นว่าทำให้มีความสุขในการเรียนมากขึ้น ขณะที่กิจกรรมหลังบ่าย 2 ที่เด็กอยากทำมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กิจกรรมชมรมเลือกเสรี เช่น ทำโครงงาน ละคร วาดรูป รองลงมาคือ ทำการบ้านให้เสร็จ และกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต เช่น ทำกับข้าว ทั้งพบด้วยว่าเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงต้องการให้อนุญาตให้ออกไปเรียนพิเศษนอกโรงเรียน และสิ่งที่เด็กต้องการให้ทำนอกเหนือจากลดเวลาเรียน 66.24% คือลดการบ้าน ตามด้วยปรับลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก 63.32% เพิ่มคุณภาพการสอนของครู 58.65% ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย 58.49% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยควรทบทวนวิธีการสอบเข้า ขณะที่การเพิ่มคุณภาพครูนั้น ที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย มีแนวคิดที่จะเรียกบัณฑิตครูของตนเองกลับมารับการอบรมเพิ่มเติมเข้มข้น ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าให้ครูหาที่อบรมเอง หรือให้กระทรวงศึกษาธิการจัด
ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานยุวทัศน์ กรุงเทพฯ ตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า เครือข่ายยุวทัศน์เคยนำเสนอความเห็นการปฏิรูปการศึกษาต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ขอให้มีกฎหมายกำหนดว่า รมว.ศธ.ควรเป็นคนเดียวตั้งแต่ ครม.ที่ได้รับการแต่งตั้งชุดแรกจนครบวาระ 4 ปี เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยน รมว.ศธ.บ่อย และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาชาติ โดยมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 ตุลาคม 2558 เวลา 05:45 น.