"ออมสิน" ยอมควัก 86 ล้านบาท คืน สกสค.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ออมสิน" ยอมควัก 86 ล้านบาท คืน สกสค.เล็งปรับเงื่อนไขกองทุนยุติใช้หนี้แทน ครูมีหนาวจ่อถูกฟ้องทวงเงิน
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินว่า ธนาคารออมสินตกลงจะคืนเงินที่หักจากบัญชีเงินสนับสนุนพิเศษโครงการสวัสดิการโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 6 ไปโดยพลการ จำนวน 86 ล้านบาท ให้กับ สกสค. ขณะเดียวกันได้หารือถึงการปรับรายละเอียดหรือเงื่อนไขกองทุน โดยตนเสนอให้ยุติเงื่อนไขให้กองทุนเงินสนับสนุนฯใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระ และให้ครูใช้หนี้ตามปกติเหมือนผู้กู้ทั่วไป รวมทั้งให้ออมสินทวงหนี้ครูโดยตรง หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากขอรับเงินสนับสนุนดังกล่าว อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปจะมีการหารือกับทางธนาคารออมสินอีกครั้ง
ด้านนายชาติชายกล่าวว่า คงต้องหาข้อยุติร่วมกัน แต่ออมสินไม่อยากให้ยกเลิกเงินสนับสนุน เพราะเห็นว่ามีประโยชน์กับครู ขณะที่นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ ประธานที่ปรึกษาเลขาธิการ สกสค. กล่าวว่า ได้หารือถึงการปรับหลักเกณฑ์เงินกู้ไม่ให้มีการปล่อยกู้ง่ายๆอีกต่อไป และการสร้างสำนึกให้ครูที่เป็นหนี้มาชำระเงินคืน ซึ่งจะดำเนินการในหลายแนวทาง ทั้งการฟ้องร้องครูที่ค้างชำระ และการเรียกมาปรับโครงสร้างหนี้ โดย สกสค.ต้องการให้มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นแต่ทั้งนี้ก็ต้องให้โอกาสครูด้วย ทั้งนี้จากการที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาพบว่ามีครูเข้าร่วมโครงการเพียง 5,000 คนจากที่ลงทะเบียนไว้ถึง 21,680 คน ถือว่าน้อยมาก
นางปิยาภรณ์ เยาวาจา ผอ.สำนักสวัสดิการครู รักษาการรองเลขาธิการ สกสค. กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนครูที่โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.กว่า 4.6 แสนราย รวมเป็นวงเงินกู้กว่า 5 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาแต่ละเดือนธนาคารออมสินจะหักเงินคืนกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ประมาณเดือนละ 300 กว่าล้านบาท แต่ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมามีครูที่ไม่ชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการบอกต่อๆกันว่ามีกองทุนจ่ายเงินแทน ทำให้เงินที่ใช้หักสำหรับครูที่ไม่ชำระหนี้ไม่พอ ที่ผ่านมากองทุนฯต้องหาเงินมาชำระหนี้แทนครูเพิ่มถึงเดือนละ 100 กว่าล้านบาท ดังนั้นต่อไปอาจจะต้องมีการฟ้องร้องครูที่ค้างชำระหนี้อย่างจริงจัง.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 กันยายน 2558 เวลา 06:01 น.