ส่อแววครูหนี้เน่าพุ่งกระฉูด
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ส่อแววครูหนี้เน่าพุ่งกระฉูด แฉหนี้ครูกู้ธนาคารออมสินส่อแนวโน้มเอ็นพีแอลพุ่งพรวดกว่า 6 หมื่นราย หลังกองทุนพิเศษ สกสค.เลิกอุ้ม หยุดผ่อนชำระแทน เหตุครูจำนวนมากเบี้ยวหนี้ เผยบางรายเบี้ยวจ่ายตั้งแต่งวดแรก ๆ ไม่กลัวเป็นหนี้เน่า เพราะรู้ว่ามีกองทุนพิเศษคอยช่วยเหลืออยู่เป็นข่าวสั่นสะเทือนวงการครูไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลกำลังมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครูไทย โดยเฉพาะครูที่กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินในโครงการเงินกู้ช.พ.ค.หลังจากสำนักงาน สกสค.ได้มีหนังสือไปถึงธนาคารไม่อนุญาตให้หักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เพื่อชำระหนี้แทนครูตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ครูที่ค้างชำระหนี้โครงการเงินกู้ช.พ.ค.กว่า 6 หมื่นรายจะกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลทันที
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาหนี้สินครูว่า รัฐบาลและรมว.ศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ที่หลายฝ่ายมองว่ามีส่วนทำให้ครูเป็นหนี้มากขึ้นโดยเฉพาะโครงการเงินกู้ต่าง ๆ นั้น ยอมรับว่า สกสค.มีโครงการเงินกู้หลายโครงการจริง แต่ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตามเท่าที่รวบรวมข้อมูลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ที่ทำร่วมกับธนาคารออมสินมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีครูร่วมโครงการถึงกว่า 4 .6 แสนราย รวมเป็นวงเงินกู้กว่า 4 แสนล้านบาท
“ที่ผ่านมาครูที่เข้าร่วมโครงการจะมีทั้งที่มีวินัยการชำระหนี้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็มีจำนวนหนึ่งที่ไม่ชำระ ซึ่งเท่าที่ทราบสาเหตุหนึ่งเพราะเป็นหนี้หลายทาง แต่อีกสาเหตุที่สำคัญ เพราะเห็นว่ามีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ชำระแทนให้”นายพินิจศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. เป็น กองทุนที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และธนาคารออมสิน ในการจัดสวัสดิการโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. โดยมีเงื่อนไขว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินโครงการตั้งแต่โครงการที่ 2-7 โดยโครงการที่ 2-3 ได้ค่าตอบแทนร้อยละ 0.50 โครงการที่ 4 ได้ร้อยละ 0.75 โครงการที่ 5 ได้ ร้อยละ 1 โครงการที่ 6 ร้อยละ 0.75 และโครงการที่ 7 ได้ร้อยละ 0.50 ซึ่ง สำนักงาน สกสค.จะนำเงินส่วนนี้มาใช้ในการบริหารโครงการ และกันส่วนหนึ่งเพื่อใช้สำรองจ่ายหนี้ชำระแทนครู ซึ่งพบว่าบางรายเจตนาไม่ชำระตั้งแต่งวดแรก ๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน สกสค.ได้มีหนังสือไปถึงธนาคารไม่อนุญาตให้หักเงินจากกองทุนฯแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งการไม่อนุญาตให้หักเงินดังกล่าวจะทำให้ครูมีหนี้ค้างชำระสะสมจำนวนมาก โดยข้อมูลหนี้สะสมค้างชำระล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค.2558 อยู่ที่ 64,197 ราย เป็นเงิน 5,388 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2558 อยู่ที่ 62,466 ราย เป็นเงิน 5,196ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลครูที่ค้างการชำระหนี้และถูกทางธนาคารฟ้องร้องดำเนินคดีก่อนหน้านี้มีเพียงประมาณ 1,000 ราย เท่านั้น
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 23 กันยายน 2558 เวลา 6:00 น.