กยศ.ขู่ยึดทรัพย์ผู้ค้างชำระ ประเดิมแล้วเกือบ800ราย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
กยศ.ขู่ยึดทรัพย์ผู้ค้างชำระ ประเดิมแล้วเกือบ800ราย กยศ.เดินหน้าทวงเงินกู้ยืมผู้ค้างชำระหนี้ ประเดิมปีแรกยึดทรัพย์ไปแล้วเกือบ 800 ราย เตรียมยึดทรัพย์อีกกว่า 4,000 ราย รวม 100 กว่าล้านบาท ผุดมาตรการจับมือหน่วยงานรัฐ-เอกชนหักเงินพนักงานวันนี้ ( 16 ก.ย.) น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2558 มีผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ รวมประมาณ 750,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้กู้รายใหม่ ประมาณ 200,000 ราย ซึ่งในภาพรวมพบว่าจำนวนผู้กู้รายใหม่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ กยศ.จำกัดจำนวนผู้กู้ไม่ให้เกิน 200,000 ราย อีกทั้งอัตราการเกิดของประชากรลดน้อยลง จึงทำให้นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาลดน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของการชำระหนี้ กยศ.คืนนั้น ในปีนี้มีผู้ชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2.2 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ชำระหนี้ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างบริษัทติดตามหนี้ โดยในปี 2557 ได้เงินคืนประมาณ 800 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 5,000 ล้านบาท
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีผู้ชำระหนี้คืนมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระอีกจำนวนมากที่ กยศ. ต้องเร่งติดตาม ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. พยายามหามาตรการรณรงค์มาโดยตลอด เพราะไม่อยากให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีผู้กู้จำนวนมากที่ไม่สนใจ และปล่อยปละละเลยไม่ชำระหนี้ จึงทำให้ กยศ.ต้องฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อฟ้องร้องไปแล้ว ผู้กู้ก็ยังไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษา ดังนั้นหาก กยศ. ปล่อยปละละเลยคดีก็จะหมดอายุความ จึงทำให้ กยศ.ต้องดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับยึดทรัพย์ผู้กู้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ขณะนี้ได้มีการยึดทรัพย์ผู้กู้ที่ยังไม่ชำระหนี้ไปแล้ว จำนวน 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท และในปีนี้มีผู้ที่เข้าข่ายจะถูกยึดทรัพย์อีก 4,175 ราย รวมเป็นเงิน 109 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจำนวนผู้กู้ดังกล่าวเป็นผู้กู้ที่กู้ยืมในปีการศึกษา 2547
"ขอเชิญชวนให้ผู้กู้ที่ค้างชำระรีบมาชำระเงินกู้ยืมคืน เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้อง และถูกยึดทรัพย์ ซึ่งหลังจากนี้ กยศ.จะไม่มีโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดีอีกแล้ว แต่ กยศ. ได้กำหนดมาตรการใหม่ โดยจะร่วมกับหน่วยงานราชการ และสถานประกอบการต่างๆ เพื่อเข้าร่วมโครงการรณรงค์ชำระหนี้ โดยหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ซึ่งขณะนี้ กยศ. อยู่ระหว่างการคิดโปรโมชั่นต่างๆ เช่น ลดดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ผู้กู้มาชำระหนี้คืนมากขึ้น อย่างไรก็ตามเวลานี้ได้เริ่มมีหน่วยงานภาครัฐ และสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการบ้างแล้ว เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด เป็นต้น" น.ส.ฑิตติมา กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 16 กันยายน 2558 เวลา 15:25 น.