ปฏิรูปการศึกษา ยกระดับภาษาอังกฤษ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปฏิรูปการศึกษา ยกระดับภาษาอังกฤษเวลาเราพูดถึงเรื่องภาษาอังกฤษ เรามักจะทุ่มเทไปจ้างฝรั่งบ้าง อบรมครูบ้าง...ทำโน่นทำนี่บ้าง พยายามเน้นปัจจัยอินพุท สร้างแรงจูงใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น...ต้องทำอยู่แล้ว แต่ที่จะทำตั้งแต่ ระดับมหาวิทยาลัยต่อไปนี้ นอกจากจะจบการศึกษามีเกรดเฉลี่ยแล้ว... ยังมีเกรดภาษาอังกฤษอีกตัว คือ “E”
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายว่า “E” ตัวนี้คือคุณวุฒิวัดระดับทักษะความสามารถภาษาอังกฤษตามมาตรฐานสากลที่เรียกย่อๆว่า CEFR
ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับเชี่ยวชาญ ได้แก่ A1, A2, B1, B2, C1, C2
“เหมือนมาตรฐานทางภาษาเป็นการวัดระดับว่าคุณมีความรู้อยู่ระดับไหน ถ้าได้ A1 แปลว่า พื้นฐานพอสมควร วัดทั้งทักษะ ฟังพูด อ่าน เขียน...เพื่อเป็นธรรมกับผู้จ้างงานเรา ถ้าเราประกาศว่าเกรดตัวเอง 4.00...3.80...เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ก็จะมีเกรดภาษาอังกฤษติดอยู่ในทรานสคริปต์ชัดเจนด้วย”
คำถามต่อมา...ใครจะเป็นคนวัด? นพ.ธีระเกียรติ บอกว่า ไม่ได้ใช้ความรู้สึกแน่นอน แต่ก็มีข้อสอบวัดระดับหลายแบบที่เป็นมาตรฐานโทเฟล ไอเอล...ของอังกฤษ CU เทป... TUเก็ต มีคำอธิบายว่าระดับไหนเป็นอย่างไร
การสอบที่ว่ามีค่าใช้จ่าย หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่า ถ้าเด็กไม่มีสตางค์จะไปสอบวัดระดับได้อย่างไร? รัฐจะต้องจัดหาศูนย์สอบมาตรฐานให้ อาจเป็นที่รวมตัวของสถาบันภาษาที่มหาวิทยาลัยหรือที่ใดที่หนึ่ง
หรืออาจจะเป็นสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หน่วยสอบกลาง ซึ่งจะต้องมีการเช็กมาตรฐานกับสำนักสอบมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่า ไอเอล โทเฟล เคมบริดจ์เอง เป็นบริการภาครัฐที่ฟรี
โดยทำได้ทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง ไม่ต้องให้เด็กวิ่งเข้ามาสอบส่วนกลางเท่านั้น แต่ใช้ระบบออนไลน์กระจายไปได้
“โทเฟลสอบปีละหลายครั้ง เราจัดสอบก็น่าจะเปิดสอบได้หลายครั้งเช่นกัน เด็กมีสิทธิจะสอบกี่ครั้งก็ได้ ส่วนกลางอาจถูกที่สุดหรือฟรี”
เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ ทันทีที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เด็กก็จะถูกวัดระดับแบบคร่าวๆให้เป็นข้อมูล มหาลัยฯจะรู้แล้วว่าเด็กของคุณภาษาอังกฤษอยู่ในระดับไหน ต่อไปนี้มหาวิทยาลัยก็มีหน้าที่ทุ่มเท พัฒนาให้เด็ก ซึ่งจะใช้วิธีไหนก็ได้
ขอให้จำไว้ว่า...การยกระดับภาษาอังกฤษมุ่งเรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียวนั้นไม่พอแน่
มีเวลา 4 ปีที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเด็ก...มหาวิทยาลัยอาจจะต้องจัดระบบอีเลิร์นนิ่ง มีการทำแบบไหนก็ได้ วิธีการมีหลากหลาย คิดว่าโปรแกรมไหนดีก็เอามาเลย เสาะหาครูเก่งๆมาเพื่อพุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กให้มีมาตรฐาน
“เด็กก็เช่นเดียวกัน จะขวนขวายให้ตัวเอง ห้องสมุด อีเลิร์นนิ่ง ก็ทำได้ ...รัฐก็พยายามหาการสนับสนุน แอพพลิเคชั่นดีๆ...อีเลิร์นนิ่งดีๆ ร่วมกับกระทรวงไอซีทีเพื่อให้เด็กจะได้มีโอกาสเรียนภาษา อังกฤษจากทุกรูปแบบได้ฟรีมากที่สุด”
การพัฒนาจะมาเส้นทางไหนก็ได้ วิธีการไหนก็ได้ สุดท้ายขอให้เด็กบรรลุมาตรฐาน ที่สำคัญมาตรฐานที่ว่านี้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล
กระบวนการทั้งหมดนี้จะไม่บังคับ ใครจะไม่สอบก็ได้ มีสิทธิไม่ตก สมมติถ้าเกรด 2.85 อังกฤษ (E) ไม่สอบ ก็จะระบุลงไปว่า...“ไม่สอบ” ไม่ได้บังคับ เราต้องการให้เป็นเสรีชน เปิดเผยทุกอย่าง
เกณฑ์วัดระดับภาษาอังกฤษที่จะใช้ในอีกไม่นานนี้ จะเป็นแรงขับสำคัญทั้งจากตัวเองและด้านนอก เพื่อนำไปสู่การยกระดับภาษาอังกฤษของเด็กไทย นพ.ธีระเกียรติยอมรับว่าวิธีการเช่นนี้จะได้ผลต้องค่อยๆทำค่อยๆเริ่ม จะประกาศใช้ทันทีคงไม่ได้ ต้องให้เตรียมตัวอย่างน้อยเป็นปี
ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง เกณฑ์ที่เราตั้งเอาไว้ในระบบการศึกษาไทย ระดับ ชั้น ป.6 อยู่ที่ A.1 ผู้เรียนสามารถใช้และเข้าใจประโยคง่ายๆในชีวิตประจำวัน สามารถแนะนำตัวเองและผู้อื่น ทั้งยังสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับบุคคลอื่นได้ เช่น เขาอยู่ไหน รู้จักใครบ้าง มีอะไรบ้าง และตอบคำถามเหล่านี้ได้ ทั้งยังสามารถเข้าใจบทสนทนาเมื่อคู่สนทนาพูดช้าและชัดเจน...ถือว่าผิดพลาดอย่างมหันต์
“ตั้งเกณฑ์เอาไว้ต่ำไม่ดีแน่ เด็กไทยก็ไม่เก่งภาษาอังกฤษสักที”
รู้กันไหม เด็ก ป.1-ป.2 สิงคโปร์ มีเกณฑ์อยู่ระดับไหน? คำตอบก็คือ B.1 นั่นคือขณะที่เด็ก ม.6 ของเราตั้งเป้าไว้ที่ B.1 เกณฑ์เดียวกัน...ซึ่งก็อาจทำไม่ได้ตามเป้าด้วยซ้ำ เท่ากับเด็กสิงคโปร์แค่ระดับ ป.1
“ปฏิรูปการศึกษา” มีหลายเรื่องที่ต้องทำ เหตุไฉนต้องเริ่มที่ภาษาอังกฤษ?
ทั่วโลกเห็นได้ชัดเจนว่า ความสามารถในการแข่งขันจะเพิ่มขึ้น การแข่งขันทางเศรษฐกิจ สังคม เมื่อคนเราเก่งภาษาอังกฤษขึ้น ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะอยากให้เป็นภาษาที่สองหรือภาษาแม่ แต่ทุกวันนี้ เป็นภาษาทางการค้า ทั้งยังเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาของการสื่อสารและวัฒนธรรมด้วยซ้ำไป
“หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แล้วควรจะเลิกเถียงกันได้แล้วว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่สอง เด็กของเราก็ต้องมีความสามารถในการใช้งานภาษาอังกฤษได้ดี...พูดคุยสื่อสารในชีวิตประจำวันได้จริง”
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องทำให้ชัดคือตั้งเป้ามาตรฐานให้ชัดเจนพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยด้วย ก็คือมาตรฐานที่คนยุโรปคงเก่งภาษาน่าจะมีลักษณะนี้
นพ.ธีระเกียรติ ย้ำว่า ในระยะยาวก็จะมีทีมที่ทำงานระดับปฐมศึกษา เรากำลังเชิญมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เข้ามาศึกษาว่าครูสอนภาษาอังกฤษเราอยู่ที่ระดับไหน และศึกษาเด็กของเราอยู่ที่ระดับไหน โดยสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ
จากข้อมูลทั้งหมดที่เรามี ก็จะดูอีกว่าหลักสูตรเราเป็นอย่างไร วิธีการเรียนการสอนเราเป็นอย่างไร และเขาก็จะแนะนำว่าเราควรพัฒนาอย่างไร...คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยหลายเดือน คิดว่าเราเริ่มทำของเราก่อน ให้มีการระบุมาตรฐานภาษาอังกฤษ สพฐ.ที่ตั้งเป้าเอาไว้คงต้องขอให้เปลี่ยนยกระดับขึ้น คงต้องเปลี่ยนเป้าหมายให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ในการสอบโอเน็ตนอกจากบอกคะแนนแล้ว ก็ให้ระบุว่า ระดับภาษาอังกฤษถึงระดับไหน มาตรฐานไหม ต่อไป...ทรานสคริปต์ ของเด็กในอนาคต เด็ก ม.6 ก็จะมีระดับเกณฑ์ภาษาอังกฤษระบุเอาไว้
“วิธีทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้คนตื่นตัว เราจะเลิกใช้ความรู้สึกว่าคนไหนเก่งภาษาอังกฤษ แต่จะมีมาตรฐานที่ชัดเจน แล้วใช้มาตรฐานในการขับเคลื่อน ร่วมกับวิธีสากลในการฝึกหัดครูผ่านเทรนเนอร์”
ผลลัพธ์ต่อไป...ครูทุกคนต้องมีระดับเกณฑ์มาตรฐานในการวัด พร้อมๆกับการที่จะพัฒนาต่อยอด
อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงชุดภาษาอังกฤษบางชุดจะยกระดับการแข่งขันได้สูงอย่างรวดเร็ว “ชุดภาษาอังกฤษวิชาชีพ” จากปัญหาเรียนจบแล้ว ไปทำงานพูดภาษาอังกฤษสื่อสารไม่ได้ ตั้งใจว่าเด็กที่จะจบอาชีวะฯ 6 เดือนสุดท้าย รู้แล้วว่าจะไปทำงานอะไรก็ให้มาเข้าค่ายหรือเข้าคอร์ส เน้นหนักเรื่องภาษา ชุดคำศัพท์ที่ต้องใช้ในงานของเขา
“ปฏิรูปการศึกษา”...ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษเด็กไทยก็เป็นเช่นนี้ พุ่งเป้าไปที่ผลสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยผลผลิตและผลลัพธ์...เด็กทำได้ตามนั้นหรือเปล่า? ได้ผลหรือไม่?
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 15 กันยายน 2558