"ดาว์พงษ์"สั่งทบทวนขอบเขตอำนาจ"อ.ก.ค.ศ."
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ดาว์พงษ์"สั่งทบทวนขอบเขตอำนาจ"อ.ก.ค.ศ."รมว.ศธ.สั่งทบทวนขอบเขตอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตฯ ชี้อาจต้องแก้ กม.ให้ไม่มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ชี้ที่ผ่านมาเป็นช่องทางทุจริต ประพฤติมิชอบ ด้านปลัด ศธ.เผยเกณฑ์วิทยฐานะ ว.13, ว.17 รวม ว.7 เน้นผลงานเชิงประจักษ์ วัดจากตัวเด็ก
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ภาคใต้ ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ รมว.ศธ.ได้รับทราบปัญหาของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โดยเฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. มาตรา 23 ที่มีอยู่ 10 ข้อ แต่ที่เกิดปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในข้อ 1-3 คืออำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา และพิจารณาความดีความชอบ เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ ส่งผลให้มีการใช้อำนาจเกินควรจนทำให้เกิดปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบต่างๆ ก็ควรให้กลับมาพิจารณา โดยมอบให้ตนพิจารณาหารือว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจ หรือจะต้องกลับไปแก้กฎหมายทั้งหมดหรือไม่ เพื่อหามาตรการมาคานอำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้คณะทำงานไปศึกษาปรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ (Performance Agreement : PA) ว.7/2558 ซึ่งใช้ประกอบการเข้าสู่วิทยฐานะ ซึ่งเดิมผู้เข้ารับการประเมินจะต้องผ่าน 2 ขั้นตอน คือการสอบวัดความรู้ตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และขั้นตอนที่ 2 จะดูผลงานทางวิชาการซึ่งจะวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ซึ่งมีการขอให้พิจารณาในส่วนของขั้นตอนการสอบ และตนมองว่าไม่ควรมีการสอบ ควรเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะการสอบจะทำให้ครูมัวแต่วิ่งสอบ ไม่สนใจในห้องเรียน คนที่ได้รับผลกระทบคือเด็ก ดังนั้นจึงต้องมีการปรับแก้แล้ว ต้องหากลไกที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ที่ควรจะได้รับพิจารณา PA ซึ่งสะท้อนผ่านมาทางคุณภาพนักเรียนนั้น ควรจะเปิดกว้างกว่าเดิม อาทิ คนที่อยู่โรงเรียนเวลานานและเป็นที่ยอมรับของนักเรียน ก็น่าจะมีโอกาสมาขอปรับวิทยฐานะได้โดยไม่ต้องสอบ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจเป็นครูเก่าที่ไม่เก่งในเรื่องของเอกสาร แต่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ ก็น่าจะได้รับการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งการสอบอาจไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถดังกล่าวได้
"ส่วนการประเมินตาม ว.13 และ ว.17 ที่เป็นการให้รางวัลที่ ก.ค.ศ. รับรองเพื่อขอปรับวิทยฐานะนั้น ก็ได้พิจารณารวมไว้ใน ว.7 ด้วย อาจจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน และในอนาคตจะต้องกลับไปดูผลงานเชิงประจักษ์ด้วยว่าควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งผมเสนอไปว่าควรจะวัดจากเด็ก ไม่ใช่วัดจากครู อาทิ นักเรียนสอบเรียนต่อได้หมด ค่าเฉลี่ยโอเน็ตสูงขึ้น ได้รับรางวัลแข่งขันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสะท้อนถึงการเรียนการสอนของครู" ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 14 กันยายน 2558