เลิกเรียนเร็วแล้วไง?
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เลิกเรียนเร็วแล้วไง?โดย...คุณบ๊งเบ๊ง antibodyposttoday@gmail.com
กระทรวงศึกษาธิการดูจะเป็นพื้นที่ที่คึกคักที่สุด หลังเปลี่ยนตัวเสนาบดีจากทหารเรือสู่ทหารบก
ยังไม่ถึงสองสัปดาห์ มาตรการเร่งด่วนเพื่อ "ปฏิรูปการศึกษา" ก็ออกมาแล้วถึง 2 เรื่อง คือ 1.ให้โรงเรียนดูแลธงชาติให้สะอาดเสมอ และ 2.ปรับลดเวลาเรียน ให้เลิกเวลาบ่าย 2 โมงทุกวัน โดยกระทรวงศึกษาฯ รับลูก หาทางลดเวลาเรียนลงทันที
ท่านรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กับท่านนายกฯ บอกว่าเลิกเร็วไม่ได้หมายความว่าจะให้กลับบ้านเร็ว แต่หมายถึงให้ทำกิจกรรม ชมรม หรือเล่นกีฬาก่อนกลับบ้าน
อันที่จริงหากให้เด็กเรียนรู้นอกห้องเพิ่มนั้นเป็นเรื่องดีอยู่แล้วครับ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เห็นว่าการให้เข้าชมรมนั้น สอดคล้องกับการเลิกเรียนเร็วตรงไหน เพราะสมัยผมต่อให้เลิกเรียนช้า หากพวกเราสนใจที่จะทำกิจกรรมเสริมจากโรงเรียน ก็สามารถเข้าชมรมต่อได้อยู่ดี
นโยบายนี้ยังไม่ได้ถามความสมัครใจด้วยว่าครูในโรงเรียนมีความพร้อมที่จะรับภาระจัดการชมรม หรือหาคนมาดูแลงานด้านกีฬาที่เพิ่มขึ้นมากขนาดไหน
ลองนึกภาพตามนะครับ โรงเรียนระดับอำเภอซึ่งมีบุคลากรจำกัดอยู่แล้ว และครูยังต้องประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะประจำปี จำต้องมาทำชมรมนาฏศิลป์ (ที่ท่านนายกฯ ชอบ) เพื่อรองรับนักเรียนที่เลิกเรียนเร็วไม่ให้ไปสิงสถิตตามร้านเกม
แล้วยังต้องมานั่งประเมินอีกว่าการเรียนรู้นอกบทเรียนที่เพิ่มขึ้นมานั้น เด็กได้ผ่านตัวชี้วัดหรือไม่ จะสร้างภาระเพิ่มขึ้นขนาดไหน
เช่นเดียวกัน หากเป็นโรงเรียนระดับอำเภอกลางๆ ไม่มีพ่อแม่อยากส่งลูกไปเรียน เงินสนับสนุนโรงเรียนก็มีไม่มากนัก (แป๊ะเจี๊ยะยิ่งไม่มี) และมีผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับย่ำแย่ จำต้องมาลดเวลาเรียนอีก เพื่อเพิ่มเวลาให้กับชมรมนาฏศิลป์ ทั้งที่ครูควรจะมีเวลาอธิบายบทเรียนให้เด็กเข้าใจมากขึ้น อนาคตผลการเรียนของเด็กจะเป็นอย่างไร
นี่ยังไม่ตอบโจทย์ด้วยนะครับว่าในภาพของการแข่งขันในภูมิภาค ที่การศึกษาไทยอยู่ระดับท้ายตารางของอาเซียนจะดีขึ้นอย่างไร หากลดเวลาเรียนจาก 1,200 ชั่วโมง เหลือ 840 ชั่วโมง/คน/ปี
รวมถึงจะทำให้ปัญหา “โรงเรียนกวดวิชา” ที่ถูกโยนให้เป็น “แพะ” อยู่ตลอดว่าทำให้เด็กมีเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียน-มีเวลาอยู่กับผู้ปกครองน้อยลงนั้น ถูกแก้ได้หรือไม่
ความจริงโรงเรียนกวดวิชาจะ “ยิ้มแฉ่ง” ขึ้นมาทันที เพราะปัจจุบันโรงเรียนปกติก็ให้เวลาติวเข้มไม่พออยู่แล้ว ยิ่งเวลาเรียนน้อยลง ยิ่งทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีก
การลดเวลาเรียนจึงตอบโจทย์ได้อย่างเดียว คือ สนองความตั้งใจของพลเอกสองคน ที่ไม่ชอบให้มีการเรียนการสอนมากเกินไป โดยที่ไม่สนใจวิเคราะห์ถึงปัญหาการศึกษาที่แท้จริง
ด้วยเหตุนี้อนาคตการศึกษาไทยจึงยังคงมืดมน แต่ก็อาจจะถูกใจคนบางกลุ่มมากขึ้น เพราะเด็กยิ่งฉลาดน้อยเท่าไร ก็ยิ่งปกครองง่ายขึ้นเท่านั้น
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 กันยายน 2558