คุรุสภาลดคน-อนุมัติตั๋วครูเร็วขึ้น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คุรุสภาลดคน-อนุมัติตั๋วครูเร็วขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมคุรุสภาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คุรุสภาเสนอปรับโครงสร้างและระบบบริหารงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาใหม่โดยแบ่งส่วนงานออกเป็น 6 สำนัก 1 ศูนย์ 1 หน่วย 1 กลุ่ม และปรับกรอบอัตรากำลังเหลือ 409 อัตรา จากเดิม 638 อัตรา ลดลง 229 อัตรา ดังนี้ จากเดิม เลขาธิการคุรุสภา 1 อัตรา รองเลขาธิการคุรุสภา 2 อัตรา ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 2 อัตรา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 3 อัตรา สำนักมาตรฐานวิชาชีพ 30 อัตรา สำนักทะเบียนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและนิติการ 28 อัตรา สำนักพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพ 28 อัตรา สำนักนโยบายและแผน 17 อัตรา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 12 อัตรา สำนักอำนวยการ 60 อัตรา หน่วยตรวจสอบภายใน 3 อัตรา กลุ่มพัฒนาระบบ 4 อัตรา หน่วยบริการงานคุรุสภา 185 อัตรา โครงสร้างใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
"การปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหม่นี้จะทำให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นงานหลักของคุรุสภา ซึ่งที่ผ่านมากำหนดระยะเวลาพิจารณาการอนุมัติและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ไม่เกิน 60 วัน แต่โครงสร้างใหม่จะทำให้กระบวนเหล่านี้เร็วขึ้นไม่กิน 30 วัน" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังพิจารณาปรับแก้ พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยปรับลดจำนวนคณะกรรมการคุรุสภา เหลือ 23 คน จากเดิม 39 คน เพื่อให้การบริหารงานรเกิดความคล่องตัวมากขึ้นและให้ปลัด ศธ.เป็นประธานโดยตำแหน่งจากเดิมที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการคุรุสภากรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย เลขาธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 8 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการสรรหา โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 1 ราย และอีก 2 ราย คัดเลือกมาจากครูดีเด่นที่ได้รับการยอมรับ และให้ยกเลิกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เนื่องจากอำนาจซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการคุรุสภา และให้ปรับมาเป็นคณะกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพโดยเฉพาะ ซึ่งหากคณะกรรมการจรรยาบรรณฯตัดสินแล้วรู้สึกไม่พอใจก็สามารถยื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ได้
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)