เร่งคลอดพรบ.ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หลังสปช.ทำแผนปฏิรูปประเทศเสร็จแล้ว/เผยไม่ล้มพรบ.การศึกษาปี42 แต่ใช้วิธีการปรับปรุงใหม่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูป ศธ.เร่งคลอด พ.ร.บ.ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ เพื่อเป็นตัวตั้งต้นเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา "วิริยะ" เผยไม่ยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาปี 42 แต่ปรับปรุงใหม่ ชี้ถ้ายกร่างออกเป็น กม.ใหม่ทั้งหมดทำไม่ทันรัฐบาลชุดนี้แน่
นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาด้านกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบให้ตนไปศึกษาในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ..... อย่างรอบคอบ ซึ่งจะมีตัวแทนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมศึกษาด้วย โดยจะปรับให้ตรงกับ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายฯ ของ สปช.มากที่สุด คือตามโครงสร้างที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคือรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน ซึ่งจะได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงาน อาทิ ประธานคณะกรรมการองค์กรหลักของ ศธ. ประธานหอการค้าฯ เลขาธิการคณะกรรมการการสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรรมการเฉพาะเรื่องที่ทำงานเต็มเวลา 6 คน และมี สกศ.เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ คือกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ต่างๆ ด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรด้านการศึกษา ในกิจการเกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนามนุษย์อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่เนื่องด้วยอำนาจของคณะกรรมการฯ คาบเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐหลายองค์กร ดังนั้นตัวองค์กรของคณะกรรมการฯ จะต้องเป็นส่วนราชการ
นายวิริยะกล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าการทำงานซูปเปอร์บอร์ดจะไม่มีปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างแน่นอน เนื่องจากมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการเฉพาะเรื่องที่ทำงานเต็มเวลาเข้ามาถ่วงอำนาจ คือเมื่อกรรมการเสนอนโยบายต่างๆ หรือยุทธศาสตร์ ก็จะมีการลงคะแนนเสียงออกมาเป็นมติคณะกรรมการฯ หากประธานไม่ดำเนินการตามมติก็อาจจะมีปัญหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบเรื่องต่างๆ แล้ว จะต้องมีการส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติออกเป็นมติ ครม.ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อ สปช.เสนอร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายฯ ให้แก่นายกรัฐมนตรี และเห็นชอบแล้ว ต่อจากนั้นทาง ศธ.ก็จะสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาได้ทันที อย่างไรก็ตาม ทางคณะอำนวยการปฏิรูปฯ ของ ศธ.ต้องการที่จะผลักดัน พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติให้เรียบร้อยอย่างเร็วที่สุด เพราะใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดอำนาจในเรื่องของปฏิรูปกฎหมายด้วย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในรัฐบาลนี้
"พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายฯ แน่นอนว่าจะต้องเชื่อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ อย่างแน่นอน แต่การจะพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ใหม่ทั้งหมดนั้นคงต้องใช้เวลานาน ดังนั้นจึงใช้วิธีการปรับแก้จาก พ.ร.บ.การศึกษา ปี 2542 แทน ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นี้ และในส่วนของ พ.ร.บ.อื่นๆ ก็จะทยอยแก้ไขตามมา ซึ่งจากการวางระบบการปฏิรูปการศึกษา สิ่งหลักที่ต้องมีคือ คณะกรรมการนโยบายฯ จากนั้นก็จะมีตัวควบคุมการศึกษาในระดับต่างๆ ของทุกสังกัดทั้งประเทศ และจะมีองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ประมาน 4-5 องค์กร" ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ศธ.กล่าว.
โครงสร้างการทำงานซูเปอร์บอร์ดการศึกษาและพัฒนามนุษย์ พ.ศ....
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ..... มีทั้งหมด 39 มาตรา กำหนดให้มีจำนวนคณะกรรมการ 21 คน เบื้องต้นจะมีบทเฉพาะกาล ในระยะเริ่มแรกของการใช้กฎหมาย ให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคาวไปก่อนไม่เกิน 9 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการครบตาม พ.ร.บ.กำหนด และให้คณะกรรมการทั้ง 9 เลือกคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ส่วนสภาการศึกษา (สกศ.) จะทำหน้าที่หน่วยงานธุรการ และให้มีการสรรหากรรมการอื่นๆ ที่เหลือ ภายใน 30 วันหลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้
หน้าที่และการทำงานของคณะกรรมการฯ จะต้องมีการประชุมอย่างน้อยทุก 2 เดือน หรือไม่น้อยกว่า 6 เดือนต่อครั้ง ในแต่ละงบประมาณ การวินิจฉัยชี้ขาดความเห็นต่างๆ ให้ยึดถือเสียงข้างมาก
นอกจากนี้ยังให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และโอนอำนาจหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องของ สกศ. และอาจรวมถึงข้าราชการและลูกจ้างของ สกศ.ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติตาม พ.ร.บ.นี้ ภายใน 1 ปี
โดยอำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ ตาม พ.ร.บ. ได้แก่ 1.การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการศึกษา แผนงาน บูรณาการพัฒนามนุษย์ในทุกมิติ และนำเสนอแผนให้ ครม.พิจารณา
2.กำกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผน ตามที่เสนอ ครม.ให้นำไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องและบรรลุผล
3.กำหนดนโยบายด้านมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต มาตรฐานหลักสูตร ระบบการประเมินผลการศึกษา ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการศึกษา และรายงานต่อ ครม.และสาธารณชน
4.กำหนดนโยบาย พิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณก่อนเสนอต่อ ครม.
5.กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานในการปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังของ ศธ.ในระยะยาวให้สอดคล้องทิศทางปฏิรูป
6.จัดทำ ปรับปรุง พัฒนา กลั่นกรอง พิจารณากฎหมาย เกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอต่อรัฐสภา ก่อนเสนอให้รัฐสภา ครม. โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อ ครม.และรัฐสภาเกี่ยวกับร่าง กม.ดังกล่าว เสนอโดย ส.ส.
7.จัดให้มีการวิจัยระบบการศึกษาฯ ทั้งด้านบริหาร การคลัง หลักสูตร เพื่อเสนอต่อซูเปอร์บอร์ดหรือเครือข่ายการศึกษาพิจารณา เพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา
8.ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามกลไกคุ้มครองผู้รับ-จัดการศึกษาอย่างเหมาะสม
9.จัดทำผลการปฏิบัติงานประจำปีเผยแพร่สาธารณชน 10.ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องและคณะอนุกรรมการได้เอง 11.มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการได้ 12.กำหนดข้อบังคับและบททางโทษของกรรมการ กรรมการเฉพาะเรื่อง และบุคลากรในสำนักงาน
13.กำหนดระเบียบกลางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ อาทิ เบี้ยประชุม ค่าตอบแทนต่างๆ 14.สามารถปฏิบัติการอื่นได้ แต่ต้องตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หรือกฎหมาย หรือ ครม. มอบหมาย.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 สิงหาคม 2558