แพงไหม ...? ค่าเทอมหลักแสน โรงเรียนอินเตอร์
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แพงไหม ...? ค่าเทอมหลักแสน โรงเรียนอินเตอร์โโดย...โยธิน อยู่จงดี
พ่อแม่ของใครสักคนได้กล่าวติดตลกไว้ว่า “การศึกษาของลูกคือการลงทุน” แต่มีเสียงหนึ่งแย้งแบบขำๆ กลับมาว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน เพราะทุกวันนี้ค่าเทอมแทบทุกโรงเรียนปรับขึ้นเท่าตัว จนเรียกได้ว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ได้เห็นราคาค่าเทอมยุคนี้ก็อาจจะถอดใจไม่อยากมีลูกเลยก็ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงคุ้นหูหลายๆ โรงเรียนนั้นค่าเทอมขยับไปแตะหลักหมื่นปลายๆ
ส่วนโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนนานาชาติทั้งหลายนั้นไม่ต้องพูดถึง บางโรงเรียนผู้ปกครองอาจจะต้องจ่ายค่าเทอมสูงถึง 7 แสนบาท/ปี ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ จนนำมาถึงคำถามที่ว่า ทำไมค่าเทอมของโรงเรียนเหล่านี้ถึงได้สูงขนาดนั้น?
แพงเพราะครูต่างชาติ
อดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนในประเทศไทย รวมถึงโรงเรียนนานาชาติต่างๆ ที่เปิดสอนในประเทศไทยอยู่ราวๆ 100 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ อธิบายในเรื่องนี้ว่า โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยทุกหลักสูตรและค่าเล่าเรียนทุกอย่างต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนก่อนถึงจะสามารถกำหนดใช้ได้ ซึ่งหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติก็มีหลากหลายหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอเมริกัน หลักสูตรอังกฤษ หลักสูตรสิงคโปร์ 3 หลักสูตรที่รู้จักกันดีในประเทศไทย
ค่าเทอมของการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติก็จะสูงกว่าโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนของรัฐบาลค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนนานาชาติโรงเรียนไหนอยากจะตั้งราคาเท่าไหร่ก็สามารถตั้งขึ้นมาได้ โรงเรียนเหล่านี้ต้องเข้ามาขออนุญาตในการตั้งค่าเทอมกับทาง สช. เสียก่อน
เหตุผลหลักๆ ในการกำหนดราคา
ค่าเทอมของโรงเรียนนานาชาติที่ต้องจ่ายค่าเทอมละหลายแสนบาท/ปี ต้นทุนใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องบุคลากร โรงเรียนนานาชาติเกือบทั้งหมดจะเป็นชาวต่างชาติเจ้าของภาษา เป็นครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง บางคนจบระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกมาสอนก็มี ดังนั้น เรื่องเงินเดือนค่าตอบแทนและสวัสดิการครูเหล่านี้จะสูงกว่าโรงเรียนที่ใช้ครูที่จบในประเทศ
ต่อมาก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านต่างๆ จำนวนเด็กนักเรียนที่รับต่อห้องต่อชั้นปีส่วนมากจะรับจำนวนจำกัด เพื่อคุณภาพของการเรียนการสอนขั้นสูงสุดของเขาตามหลักสูตรที่นำเข้ามา ทำให้เขาต้องกำหนดราคาที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้สามารถอยู่ได้ อีกทั้งในกลุ่มหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติก็จะต้องมีการวัดผลการสอนโดยเจ้าของหลักสูตร ถ้าไม่ผ่านเขาก็จะไม่ได้ใบรับรองให้นำหลักสูตรไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นต่อ ตรงจุดนี้ก็เป็นเรื่องต้นทุนในการสอนของเขาเหมือนกัน แต่เราก็ต้องมาดูว่าราคาที่เสนอมานั้นเหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงแค่ไหน
สำหรับเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน แน่นอนว่าโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนานาชาติส่วนมากจะดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล แต่ก็มีโรงเรียนรัฐบางแห่งที่มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีเทียบเท่าโรงเรียนเอกชน บางแห่งเปิดหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมขึ้นมาโดยเฉพาะ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้พยายามพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพครูให้มีมาตรฐานมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ด้วยรักจึงทำเพื่อลูก
ม.ล.สราลี ศุภวิทยาภินันท์ เปิดเผยถึงเหตุผลสำคัญในการส่ง น้องณนนท์ ด.ช.ณฐนนท์ ศุภวิทยาภินันท์ วัย 3 ขวบ เข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งว่า “ตอนนั้นเราตั้งโจทย์ไว้ที่ 3 ข้อ ก็คือ 1.ความสุขในการเรียน 2.ใกล้บ้าน 3.ได้ภาษา เราเคยจองโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า แต่เราดูแล้วโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนอนุบาลที่ติววิชากันหนักมาก เพื่อให้เด็กสามารถสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนสาธิตได้
การที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มุ่งส่งลูกเข้าโรงเรียนสาธิตกันมาก ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง เด็กอนุบาล 2 ต้องนั่งติวข้อสอบเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต แสดงให้เห็นถึงระบบการศึกษาไทยระดับประถมของกรุงเทพฯ ที่มีปัญหา ถ้าทุกโรงเรียนมีมาตรฐานอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ก็คงไม่มีการแข่งขันเข้าสาธิตแบบนี้ พอเห็นว่าลูกจะไม่มีความสุขที่ได้เข้าเรียน จึงยอมเสียเงินจองสิทธิเข้าเรียน ส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติดีกว่า เพราะหลักๆ แล้วเราไม่อยากให้ลูกเคร่งเครียดกับการเรียนมากเกินไป
โรงเรียนที่เราเลือกเป็นโรงเรียนนานาชาติในระบบอเมริกัน แต่เราไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเข้าระบบไหนขอให้น้องได้เรียนแล้วมีความสุขกับการไปโรงเรียน ค่าเทอมที่จ่ายอยู่ตอนนี้ราวๆ 2 แสนบาท/ปี คิดว่าเมื่อลูกเรียนจบขึ้นเกรด 1 ค่อยย้ายไปที่โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ เพราะไม่ไกลบ้าน มีชื่อเสียง สภาพแวดล้อมดี เพื่อนที่ส่งเรียนที่นี่เพราะเด็กดูมีความสุข ค่าเทอมของโรงเรียนนี้อยู่ราวๆ 4 แสนบาท/ปี
วางแผนถ้าจบเกรด 6 คิดว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนโยธินบูรณะภาคอินเตอร์ เป็นโรงเรียนนำร่องอิงลิชโปรแกรม ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือไม่ก็สาธิตมหิดล เพราะเราไม่อยากให้ลูกไปเรียนต่างประเทศให้ห่างกายกันเกินไป เพราะถ้าน้องเรียนอินเตอร์แล้วก็ต้องเรียนอินเตอร์ไปตลอด”
ยอมจ่ายเพื่อให้ลูกได้ภาษา
กรรณิการ์ จุลโพธิ์ เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง คุณแม่ของน้องคุณ ด.ช.แทนคุณ ฝูงวานิช ชั้น เกรด 2 (ป.2) และน้องคูเปอร์ ด.ช.ธนภัทร ฝูงวานิช เกรด เค2 (อนุบาล 2) โรงเรียนนานาชาติแอ๊ดเวนติสมิชชั่น จ.นครราชสีมา ให้เหตุผลในการส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ ว่า คือ “ลูกจะชอบการเรียนผ่านการเล่นมากกว่าที่จะมาบังคับให้ท่องจำ การเรียนในโรงเรียนนานาชาติจึงเหมาะสำหรับลูกที่สุด แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ ที่จะเปิดโอกาสให้กับชีวิตของเขามากกว่า
ค่าเทอมของที่แอ๊ดเวนติสมิชชั่นจะอยู่ราวแสนกว่าบาทต่อปี ซึ่งตอนที่ลูกเรียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่น ซึ่งเป็นระบบอังกฤษ ค่าเทอมจะอยู่ที่ราวๆ 8.3 หมื่นบาท/เทอม ทั้งปีมี 3 เทอม จะตกอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าบาท เรื่องการบริการของโรงเรียนนานาชาติก็จะมีรายงานพฤติกรรมลูกส่งให้เราทุกวัน ว่าวันนี้น้องเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องคุณภาพการสอนคุณครูจะดูแลทั่วถึงกว่า ห้องเรียนจะมีเด็กนักเรียนอยู่ประมาณ 10-20 คนเท่านั้น ทั้งโรงเรียนมีเด็กอยู่แค่ 100 กว่าคน
ความแตกต่างของโรงเรียนทั้งสองระบบยังแยกไม่ออก แต่สิ่งที่ได้แน่นอนก็คือเรื่องภาษา เวลาไปต่างประเทศน้องสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ทั้งสองคน เพราะเขาสอนให้ฟัง พูด อ่านแล้วเขียน ไม่ได้เริ่มจาก เขียน อ่าน พูด แล้วฟัง ส่วนภาษาไทยเป็นจุดอ่อนของเด็กอินเตอร์ที่จะอ่อนภาษาไทย แล้วอีกอย่างภาษาไทยก็สอนไม่เหมือนเมื่อก่อน เราต้องกลับมาสอนใหม่ที่บ้านแล้วให้เรียนเสริมภาษาไทยเอา เพราะวันหนึ่งเรียนภาษาไทยชั่วโมงเดียว นอกนั้นภาษาอังกฤษหมด
เราคิดว่าคุ้มค่าที่สุดแล้วกับการที่เด็กวัย 5 ขวบ สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ในขณะที่ตัวแม่เองเสียเปรียบตรงที่เราไม่ได้ภาษา แต่ลูกได้โอกาสทางภาษามากกว่าคนอื่น”
แต่ไม่ว่าโรงเรียนนานาชาติจะแพงหลักแสน หรืออาจทะลุหลักล้านในอนาคต ก็เชื่อว่ามีผู้ปกครองยอมจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก ซึ่ง อดินันท์ แนะนำว่า การเลือกโรงเรียนนานาชาตินั้นจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับกำลังฐานะของผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้าเรียน แต่จุดที่เราควรพิจารณาให้ดีก็คืออยากให้ลูกเรียนหลักสูตรใด เพราะแต่ละหลักสูตรก็มีความเหมาะสมกับเด็กแตกต่างกันออกไป หลักสูตรที่ดูแปลกมากๆ ไม่คุ้นชื่อคุ้นตาถ้าไม่แน่ใจก็ผ่านไปก่อน
ต่อมาก็คือพิจารณาเรื่องชื่อเสียงของโรงเรียน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากๆ ค่าเทอมสูงหน่อย แต่เด็กส่วนใหญ่ที่จบไปมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจประกอบ และสุดท้ายหากมีข้อสงสัยเรื่องโรงเรียนนานาชาติ การเรียนในหลักสูตรต่างๆ แบบรายวิชา หรือค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเหล่านี้ที่ไม่เข้าใจ หรือคิดว่ามีปัญหาก็สามารถติดต่อกับคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ได้ทันที หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.opec.go.th
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558