ปฏิรูปการศึกษาเริ่มเห็นผล รัฐบาลเร่งเดินหน้าอีกเท่าตัวชดเชยเวลาที่เสียไป
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปฏิรูปการศึกษาเริ่มเห็นผล รัฐบาลเร่งเดินหน้าอีกเท่าตัวชดเชยเวลาที่เสียไปรัฐบาลพอใจปฏิรูปการศึกษาเริ่มเห็นผลหลายประเด็น ชี้เก็บภาษีจากกำไรโรงเรียนกวดวิชา มิใช่เก็บจากรายได้ ขอผู้ประกอบการยอมลดกำไรอย่าผลักภาระให้เด็ก หวังผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้นอีกเท่าตัวชี้ประเทศต้องเดินหน้าพร้อมกันทุกระบบ
วันนี้ (11 ก.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลจากการเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาเริ่มเห็นผล อาทิ ภายในภาคการศึกษาเดียว สามารถขยายจำนวนการให้บริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DCTV ได้ครบทุกโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น จำนวน 15,369 โรง คิดเป็นนักเรียนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ถึง 1,015,974 คน จากเดิมที่มีเพียง 6,628 โรง และการประเมินผลจากการสอบ NT พบว่า เด็กนักเรียนทั้งชั้น ป.3 และ ป.6 ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านั้นมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น
ในส่วนของนโยบายลดภาระในการสอบของนักเรียน เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สนใจ และพัฒนาตนเองในด้านอื่น ก็ได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรม คือ ในปีการศึกษา 2558 ได้ลดจำนวนวิชาในการสอบ O-NET เหลือ 5 กลุ่มสาระวิชา จากเดิม 8 กลุ่มสาระวิชา ลดความเครียดให้นักเรียน และหวังเพิ่มศักยภาพในด้านอื่น
“สำหรับนโยบายล่าสุด คือ การออกพระราชกฤษฎีกา เก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาเป็นกิจการเพื่อการค้าและแสวงหากำไร เช่น ธุรกิจอื่น จึงควรเสียภาษีอย่างถูกต้องและเสมอเหมือนกับธุรกิจที่แสวงหากำไรอื่น ๆ ทั้งนี้ คาดว่า รัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ประมาณ 1,200 ล้าน
การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เป็นการจัดเก็บจากกำไรจากการประกอบการ มิได้เก็บจากรายได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ควรผลักภาระให้เด็กนักเรียนโดยการขึ้นค่าเรียน แต่ควรลดในส่วนกำไรเพื่อนำส่งเป็นรายได้เข้ารัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรียน และสถาบันการศึกษาเอกชน เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการศึกษากระแสหลักและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อหนุนเสริมในจุดที่การจัดการศึกษาโดยรัฐ ไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั่วถึง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการคาดการณ์ว่า มูลค่าการตลาดโรงเรียนกวดวิชาในปี 2558 จะสูงถึง 8,189 ล้านบาท และมีโรงเรียนกวดวิชาราว 2,000-3,000 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ผลการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนอีกด้าน คือ การยกระดับโรงเรียนอาชีวศึกษา และสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านอาชีวะ ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของชาติ โดยในปีการศึกษานี้ มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรของสถาบันอาชีวะ ระดับ ปวช. 202,410 คน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ที่มีนักศึกษาจำนวน 160,590 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.04
ขณะที่ระดับ ปวส.มีผู้สมัครเรียน 112,064 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีนักศึกษาจำนวน 103,301 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ดำเนินการร่วมกับสถานทูตอังกฤษ เพื่อดำเนินการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ เพื่อป้องกันกลุ่มที่เคยมีประวัติการกระทำผิดหนีเข้ามาอาศัยอาชีพครูสอนภาษาแล้วอาจกระทำผิดซ้ำกับเด็กนักเรียน ซึ่งปัจจุบัน พบว่า ครูต่างชาติในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษามีมากกว่า 15,000 คน ซึ่งยังไม่รวมครูต่างชาติที่สมัครตรงกับโรงเรียนโดยไม่ผ่านกระทรวงศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีการสร้างระบบเข้ามาดูแลต่อไป
“ท่านนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนผลักดันให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากบอกว่าพอใจเต็มที่แล้ว ก็คงจะเป็นการพูดที่ไม่ตรงกับความจริง เพราะท่านนายกฯอยากเห็นอัตราเร่งของผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมเร็วกว่านี้อีกสักเท่าตัว เพราะในขณะนี้ประเทศต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ชดเชยเวลาที่เสียไป และการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิรูปประเทศในมิติอื่นๆ ด้วย จึงขอให้ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ ท่านจะคอยติดตามงานทุกระยะ”
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2558