ใจใหญ่ยิ่งกว่าทะเล!! มารู้จัก... เจ้าชายอัลวาลีด บริจาคเงิน 1 ล้านล้านเพื่อการกุศล
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ใจใหญ่ยิ่งกว่าทะเล!! มารู้จัก... เจ้าชายอัลวาลีด บริจาคเงิน 1 ล้านล้านเพื่อการกุศลกำลังกลายเป็น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" ร่ำลือกระหึ่มโลก เมื่อเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัล แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงประกาศจะบริจาคเงินทรัพย์สินของพระองค์ที่มีอยู่มหาศาลนับ 32,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อการกุศล!
"เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัล" ทรงเป็นใคร? ทำไมถึงใจบุญขนาดนี้!?! เป็นคำถามที่หลายคนคงอยากรู้คำตอบ ไปจนถึงอยากรู้จักเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบียพระองค์นี้ให้มากขึ้น...
เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัล ทรงมีพระนามเต็มว่า "อัล-วาลีด บิน ทาลัล บิน อับดุลลาซิส อัล ซาอูด" พระราชสมภพเมื่อวันที่ 7 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2498 ปัจจุบันพระชนมายุ 60 พรรษา โดยทรงเป็นพระราชนัดดาในอดีตกษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลลาซิด อัล ซาอูด ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน กษัตริย์องค์ปัจจุบันแห่งซาอุดีอาระเบีย
เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัล แห่งซาอุดีอาระเบีย
หากสืบค้นพระประวัติลงลึกไปอีก จะพบว่า เจ้าชายอัลวาลีด ยังทรงมีปู่ทวด เป็นถึงกษัตริย์อิบน์ ซาอูด อดีตกษัตริย์พระองค์แรก ผู้สถาปนาราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่ทางฝ่ายตาทวดของพระองค์ คือ ไรอัด อัล ซอลห์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศเลบานอน
ความมั่งคั่งร่ำรวยของเจ้าชายอัลวาลีด ทรงถูกเลื่องลือมานานหลายปีแล้ว ในฐานะพระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานบริษัทดำเนินธุรกิจและการลงทุน ‘คิงดอม โฮลดิ้ง คอมปานี’ (Kingdom Holding Company) อันยิ่งใหญ่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้ผลกำไรมหาศาลจากการลงทุนในกิจการต่างๆ มากมายหลายสาขา ตั้งแต่กิจการของสวนสนุก ‘ยูโร ดีสนีย์ ธีม ปาร์ก’ ไปจนถึงโรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์, แฟร์มอนต์ , ราฟเฟิลส์ รวมทั้ง ซิตี้กรุ๊ป, ทวิตเตอร์ และแอปเปิล
นอกเหนือจากนั้น บริษัทคิงดอม โฮลดิ้ง ของเจ้าชายอัลวาลีด ยังกำลังสร้างความฮือฮา ดำเนินการก่อสร้างตึกสูงระฟ้า ในเมืองเจดดาห์ ริมฝั่งทะเลแดง ซึ่งตึกสูงเทียมฟ้าแห่งนี้ จะเป็นตึกที่มีความสูงมากกว่า 1 กิโลเมตร และจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกในอนาคตข้างหน้าเลยทีเดียว
นิตยสารไทม์ ในสหรัฐฯ เคยจัดอันดับให้เจ้าชายอัลวาลีดทรงร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกเมื่อปี 2553 และล่าสุด นิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับความมั่งคั่งร่ำรวยของเจ้าชายอัลวาลีด โดยทรงติดอันดับที่ 34 ของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกประจำปีนี้
บิล เกตส์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้หันมาทำงานช่วยเหลือสังคมผ่านมูลนิธิ เกตส์ อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เจ้าชายอัลวาลีดทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ แต่พระองค์กลับทรงไม่รับตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในรัฐบาล โดยทรงมุ่งเน้นทำธุรกิจในตำแหน่งประธานบริษัทคิงดอม โฮลดิ้ง เท่านั้น
กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.58 เจ้าชายอัลวาลีด ทรงสร้างความฮือฮาให้แก่ชาวโลก เมื่อทรงออกมาแถลงข่าวพร้อมกับเจ้าชายคาเล็ด และเจ้าหญิงรีมา อัลวาลีด บิน ทาลัล พระโอรสและพระธิดาว่า พระองค์ได้ทรงได้บริจาคเงินเพื่อการกุศล 32,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลากว่า 35 ปี ผ่านทางมูลนิธิ ‘อัลลาวีด’ (Alwaleed Philanthropies) ที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้น
โดยเจ้าชายอัลวาลีด ตรัสว่าสาเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงยินดีสละทรัพย์สินนับล้านล้านบาท เพื่อการกุศล เนื่องจากทรงได้รับแรงบันดาลใจจาก มูลนิธิเกตส์ (เกตส์ ฟาวเดชั่น) ของบิล และเมลินดา เกตส์ สองสามีภรรยา มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์
‘การทำบุญเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล ซึ่งข้าพเจ้าได้ทรงเริ่มทำมานานกว่า 30 ปีแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อแท้ของความศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม’ เจ้าชายอัลวาลีดตรัส พร้อมกันนั้น ยังทรงหวังว่า การบริจาคเงินเพื่อการกุศลของพระองค์ จะเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การพัฒนาชุมชน ส่งเสริมสตรี พัฒนาเด็ก-เยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบหายนภัย และการสร้างสรรค์โลกให้ผู้คนมีความใจกว้างและยอมรับกันมากขึ้น
เจ้าชายคาห์เล็ด และเจ้าหญิงรีมา อัลวาลีด บิน ทาลัล พระโอรส-พระธิดาในเจ้าชายอัลวาลีด
ที่น่าชื่นชม คือ เจ้าชายอัลวาลีดได้ทรงออกมาแถลงข่าวบริจาคเงินนับล้านล้านบาท โดยทรงเลือกช่วงเวลาในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ ‘รอมฎอน’ เดือนแห่งการถือศีลอด ของชาวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งตามหลักคำสอนได้ส่งเสริมให้ชาวมุสลิม บริจาคเงินเพื่อการกุศลและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็น
และด้วยวัยที่เข้าสู่วัยชราภาพ เจ้าชายอัลวาลีดยังทรงไม่ลืมจะทรงประกาศขอมอบหมายหน้าที่ต่อให้กับพระโอรสพระธิดาที่จะเข้ามาสืบสานมูลนิธิอัลวาลีดต่อไป หากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วอีกด้วย.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558