สมศ.ชำแหละ 10 ปัญหาการศึกษาไทย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สมศ.ชำแหละ 10 ปัญหาการศึกษาไทยศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากผลการประเมินคุณภาพภายนอก 3 รอบ ระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาของ สมศ. พบว่ามี 10 ปัญหาหลักที่เป็นตัวฉุดรั้งการศึกษาไทย ได้แก่ 1. ปัญหาการอ่านและการเขียน 2.ผลสัมฤทธิ์การเรียนอยู่ในระดับต่ำ 3.ผู้เรียนขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์ 4.ผู้เรียนขาดทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 5. สถานศึกษาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียน 6.ครูไม่ครบชั้น 7.ครูยังไม่สามารถกระตุ้นผู้เรียนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ 8.สถานศึกษาขาดการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ 9.สถานศึกษาขาดการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ สนับสนุนที่เข้มแข็งและต่อเนื่องจากหน่วยงานต้นสังกัด และ 10.ขาดการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เป็นผลให้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำผลการประกันคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
สมศ.จึงได้ริเริ่มโครงการ "1 ช่วย 9" โดยสถานศึกษาที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นแกนนำช่วยพัฒนาสถานศึกษาเครือข่ายที่ผลการประเมินต่ำกว่าระดับดีมาก ให้มีพัฒนาการของค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพภายนอกดีขึ้นอย่างน้อย 9 แห่งต่อ 1 หน่วยงาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 มีสถานศึกษาแกนนำจำนวน 207 แห่ง มีสถานศึกษาเครือข่าย 1,863 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาร่วมกับสถานศึกษาเครือข่าย คาดว่าจะมีสถานศึกษาเครือข่ายเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานของโครงการ "1 ช่วย 9" ในระยะแรก พบว่า สถานศึกษาเครือข่ายมีพัฒนาการของค่าเฉลี่ยผลการประเมินคุณภาพภายนอกดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 93.10 สถานศึกษาแกนนำและสถานศึกษาเครือข่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบเครือข่าย คิดเป็นร้อยละ 92.10 ผู้บริหารครู/อาจารย์และบุคลากรเห็นคุณค่าของการช่วยเหลือร่วมกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 90.30 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษามากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 88.90 และสถานศึกษาเกิดวัฒนธรรมคุณภาพ และนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ในการขับเคลื่อนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 88.90 ตามลำดับ
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก