เสียงแย้งบทลงโทษนักเรียน ขัดดัดนิสัยเด็ก!?
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เสียงแย้งบทลงโทษนักเรียน ขัดดัดนิสัยเด็ก!?แทบทุกคนล้วนเคยผ่านชีวิตรสชาติในวัยเรียนกันมาแล้ว การศึกษานำมาซึ่งความรู้ เพื่อให้เด็กนำไปใช้ในอนาคต นอกจากความรู้ในห้องเรียน ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสิ่งที่ควบคู่กับการเรียนนั้น คือระเบียบวินัยที่ทุกโรงเรียนต้องมี โดยทุกคนต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ และผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามล้วนได้รับ‘การลงโทษ’
บ่อยครั้งในทุกยุคสมัยจะเห็นว่าภายในโรงเรียนมักมีนักเรียนไม่เชื่อฟัง และแหกกฎ แม้จะมีมาตรการบทลงโทษสำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมไม่อยู่ในขอบเขตของระเบียบวินัย ที่โรงเรียนที่ได้วางไว้ก็ตาม
ก่อนหน้านี้มีเรื่องราวให้ติดตามบ่อยครั้ง เกี่ยวกับบทลงโทษสำหรับนักเรียนที่แหกกฎทั้งหลาย ซึ่ีงมักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดถึงความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ แต่กลับชวนให้ตั้งคำถามว่าบทลงโทษรุนแรงจริงหรือ? เสียงขัดแย้งไม่ให้ลงโทษเด็กจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน!?
ล่าสุดในโลกออนไลน์ มีการส่งต่อภาพของคุณครูที่กำลังลงโทษนักเรียน ด้วยการใช้ปากกาหมึกสีเขียนกางเกง โดยให้เหตุผลว่าเด็กทำผิดแต่งกายยั่วยุก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท สิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ นั่นคือกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสังคมโซเชียลว่าลงโทษเกินกว่าเหตุหรือไม่
แม้ทางโรงเรียนจะมีการชี้แจงแล้วว่าเด็กกลุ่มดังกล่าว ได้ติดทัณฑ์บนของโรงเรียนอยู่และมีพฤติกรรมที่ไม่ดีก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ส่งผลให้เด็กคนอื่นพลอยได้รับความเดือดร้อน
ทั้งยังยืนยันว่าผู้ปกครองโรงเรียนนี้ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีและไม่ติใจแต่อย่างใด แต่ถึงแม้กระนั้นก็หนีไม่พ้นเสียงคัดค้านการทำโทษที่ไม่ว่าจะรุนแรงจริงหรือไม่ก็จะมีเสียงแย้งแทบทุกสมัย เสียงเหล่านี้อาจทำให้ขัดการดัดนิสัยเด็ก และอาจส่งผลให้เด็กทำผิดซ้ำ ๆ เนื่องจากบทลงโทษเบาบางเกินไป
ทั้งนี้ หลายคนคงสงสัยว่าครูลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรงได้หรือไม่ ด้วยการออกระเบียบของกระทรวง ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ.2548 กำหนดให้การลงโทษเด็กทำได้แค่ 4 สถาน เท่านั้น คือ
1. ว่ากล่าวตักเตือน
2. ทำทัณฑ์บน
3. ตัดคะแนนความประพฤติ
4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และภายหลังมีการเพิ่มมาตรการลงโทษเด็กที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยให้พักการเรียนกับเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
อย่างไรก็ตาม สถาบันที่สร้างคนให้เติบโตเป็นคนดีของสังคมนั้น เริ่มจากจุดเล็ก ๆ โดยครอบครัว ทุกคนล้วนอยากเห็นสังคมไทยมีแต่ความสุข ด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด คุณครูก็เช่นกันคงไม่อยากลงโทษนักเรียน
หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้กระทำผิด แต่ควรอยู่ในกฎเกณฑ์เหตุผลที่ต้องมาเหนืออารมณ์ความรู้สึก รวมถึงนักเรียนเองก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีเช่นกัน
ที่มา : MThai News วันที่ 28 มิถุนายน 2558