อุดมศึกษาของบผลิตครูโครงการคุรุทายาท ใช้ระบบปิดป้อน สพฐ-อาชีวะ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อุดมศึกษาของบผลิตครูใช้ระบบปิดป้อน สพฐ-อาชีวะรศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยถึงโครงการคุรุทายาท (พ.ศ. 2558-2572) ว่า เป็นการนำร่องการผลิตครูระบบจำกัดรับ (ระบบปิด) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยในระยะเริ่มแรกมีเป้าหมายการดำเนินงานปีละไม่มาก เพื่อให้สถาบันผลิตครูมีการปรับลดจำนวนการผลิต และปรับบทบาทเป็นการพัฒนาครูประจำการในพื้นที่ แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพจำนวนมากพอที่ส่งกระทบต่อคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพของการศึกษาไทย ทั้งนี้ สกอ. ขอรับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานตลอดโครงการ 15 ปี ในวงเงิน 8,106 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย ทุนการศึกษา จำนวน 3,451 ล้านบาท งบพัฒนาศักยภาพและทักษะความเป็นครู จำนวน 4,260 ล้านบาท งบการบริหารโครงการ จำนวน 395 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอโครงการฯ ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนมิถุนายนนี้
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่า โครงการคุรุทายาท จะผลิตครูในสาขาวิชาทั้งสาขาวิชาการศึกษาขั้นพื้นฐานและสาขาวิชาชีพในพื้นที่ที่เป็นความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นต้น โดยการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพเป็นสถาบันผลิตครูในโครงการฯ โดยคำนึงถึงพื้นที่เป็นหลัก (Area Based) โดยมีเป้าหมาย 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนิสิต นักศึกษา ครูที่กำลังศึกษา เพื่อให้มีครูที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 5 รุ่น จำนวน 10,000 คน กลุ่มผู้เข้าเรียนวิชาชีพครูใหม่ ผลิตครูจำนวน 10 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558-2567 รวมจำนวน 58,000 คน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ สำเร็จการศึกษาและมีคุณสมบัติตามที่โครงการฯ กำหนด จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในสังกัด สพฐ. หรือ สอศ. ในจำนวนกลุ่มผู้เข้าเรียนวิชาชีพครูใหม่ มีทุนการศึกษาประมาณ 5,800 ทุน หรือประมาณร้อยละ 10 ของเป้าหมาย
“โครงการคุรุทายาท จะเป็นโครงการที่ดึงดูดคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาวิชาชีพครูด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น และเมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นครูที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และลดปัญหาเรื่องการโยกย้าย” เลขาธิการ กกอ. กล่าว
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 1 มิถุนายน 2558