ปปง.สั่งลุยธนาคารรัฐ-บ.ประกันฯ โกงครู-บุคลากรศึกษากว่า5พันล.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
27 พ.ค. 58 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยตัวแทนครู- อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้นำเอกสารและพยานหลักฐานพร้อมหนังสือร้องเรียนจำนวนกว่า 5,000 ฉบับ ยื่นเรื่องร้องต่อพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เพื่อขอให้สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบกับต้นสังกัดของโครงการกู้เงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)ต่อไป เนื่องจากแสดงข้อความอันเป็นเท็จในการปกปิดความจริงที่ควรแจ้ง เข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า โครงการที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนให้สำนักงาน ปปง.ตรวจสอบนั้น เป็นโครงการกู้เงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ร่วมกับธนาคารในการกำกับของรัฐและบริษัทประกันภัยในการกำกับของรัฐ ได้ปล่อยสินเชื่อการกู้เงิน โดยบังคับให้ทำประกันชีวิตวงเงินสินเชื่อเป็นเวลา 9-10 ปี โดยหักเงินจากยอดเงินกู้ พร้อมคิดดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตทางบริษัทประกันภัย จะชดใช้หนี้คืนให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กลับได้รับแจ้งว่าทางธนาคารและบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ไม่ใช่ประกันชีวิตอย่างที่แจ้งกับครูผู้กู้ อีกทั้งไม่ได้ให้กรมธรรม์ประกันภัยใดๆแก่ครูผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีผู้ร่วมโครงการกว่า 150,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท
ดังนั้น สำนักงาน ปปง. จะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆว่าสถาบันการเงินดังกล่าวรับเงินแล้วไปดำเนินการอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นคาดจะมีความผิดทั้งอาญาฉ้อโกงประชาชน นอกจากนี้ ปปง. จะเร่งสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนของทุกคนอย่างเร่งด่วน
ด้านนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากครู- อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้ทำเรื่องกู้ยืมเงินในโครงการสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคสินเชื่อโครงการเกื้อกูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จากสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารของรัฐ โดยโครงการนี้ดำเนินการมากว่า 7ปีแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับกรมธรรม์ จากบริษัทประกันแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าวแจ้งหลักเกณฑ์ว่าผู้กู้ธนาคารจำนวน 3ล้านบาทที่ได้รับอนุมัติเงินจะต้องถูกหักเงินทันทีจำนวน 180,000บาททันที หรือรายกู้ 1ล้านบาท จะถูกหักเงินก้อน 8หมื่นบาท เป็นต้น โดยแจ้งว่าเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตจากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในกำกับของรัฐ หากผู้ทำประกันเสียชีวิตจะเข้ามาจ่ายเงินแทนให้ แต่ต่อมาทราบว่าไม่ใช่ประกันชีวิตแต่เป็นการประกันอุบัติเหตุและสุขภาพจากคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ คปภ.ให้สัมภาษณ์ ก่อนหน้านี้
นายสงกานต์ กล่าวว่า โครงการนี้มีครู- อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่กู้เงินขอสินเชื่อธนาคารดังกล่าวทั่วประเทศ ความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท ดังนั้น ต้องการให้เลขาธิการปปง. ตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของคณะผู้บริหารต้นสังกัดโครงการชพค.ที่มีส่วนเห็นชอบ ผู้บริหารของธนาคารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อโครงการ ผู้ประกอบการตัวแทน นายหน้าของบริษัทประกันภัย เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลที่สาม
พร้อมกันนี้ ในวันที่ 31 พ.ค.ผู้เสียหายจะเดินทางมากทม. จากนั้นวันที่ 1มิ.ย.นี้ ผู้เสียหายจะรวมตัวกันเดินทางมายังกองปราบปราม เพื่อแจ้งความให้ดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 27 พฤษภาคม 2558