แนะปรับโครงสร้างเวลาเรียนยืดหยุ่นตามจำเป็น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปรับโครงสร้างเวลาเรียนยืดหยุ่นตามจำเป็น คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ เสนอปลดล็อคโครงสร้างเวลาเรียน-เลิกบังคับให้ใช้ทุกตัวชี้วัด ชี้เป็นอุปสรรคทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ในห้องเรียน ย้ำต้องฟื้นกรมวิชาการ ดูแลคุณภาพที่ชั้นเรียนทุกระดับวันนี้ (26 พ.ค.) ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยพบว่า แผนการศึกษา และแผนพัฒนาประเทศชาติขาดทิศทาง ขาดความต่อเนื่อง และขาดความเชื่อมโยง นอกจากนี้ยังขาดผู้เอาใจใส่คุณภาพทางวิชาการที่ชั้นเรียนในทุกระดับ ที่ประชุมจึงยืนยันว่าควรฟื้นหน่วยงานกลางที่มีลักษณะเป็นกรมวิชาการที่ทันสมัย ทำหน้าที่วิจัย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ครบวงจรอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาจะเน้นการทำเอกสารหลักสูตร มากกว่าการกำกับติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนว่าได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ ดร.สิริกร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การประกาศแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรฯ ต่อไป เพราะถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ในห้องเรียน โดยขอให้ผ่อนปรนโครงสร้างเวลาเรียน เพื่อให้การกำหนดจำนวนชั่วโมงสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ของแต่ละระดับชั้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และผ่อนปรนการบังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องวัดและประเมินผลผู้เรียนทุกตัวชี้วัด ซึ่งปัจจุบันตัวชี้วัดในภาพรวมมีกว่า 1,000 ตัว ทำให้สถานศึกษาบางแห่ง เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ไม่สามารถสอนได้ตามบริบท หรือสอนตามลักษณะของผู้เรียนได้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อพิจารณาต่อไป “สิ่งที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอไปนั้น ไม่ใช่เสนอให้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรฯ แต่เราอยากให้โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องเวลาเรียนของแต่ละวิชาเองไม่ต้องบังคับ เช่น วิชาภาษาไทย ระดับ ป.1-3 บังคับว่า ต้องเรียน 200 ชั่วโมงต่อปี แต่บางโรงเรียนอยากให้เรียนภาษาไทยมากกว่านี้ เพราะในระดับนี้วิชาหลักมีความจำเป็นมากกว่าที่จะต้องมาเรียนการงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นต้น”ดร.สิริกรกล่าว.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2558 เวลา 15:36 น.