"ครูเคยโทษตัวเองบ้างหรือไม่ ?" : บทความโต้แย้งกระแสคัดค้านการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
บทความกระแสคัดค้านการถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นโดย วีระ สุดสังข์
"ครูเคยโทษตัวเองบ้างหรือไม่ ?"
สายตาข้าราชการมักจะมององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า “เป็นแหล่งรวมทุจริต คอรัปชั่น” หลายคนกล่าวด้วยประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริง หลายคนกล่าวขึ้นด้วยการคาดเดา หลายคนกล่าวด้วยอคติ หลายคนกล่าวถึงเปลือกและกระพี้และยังเข้าไม่ถึง “แก่นลึก” ของท้องถิ่น แล้วตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ ไม่อยากสัมผัส ไม่อยากเข้าใกล้ ผมมองว่าระบบราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็เป็นแหล่งรวมทุจริต คอรัปชั่น” ไม่น้อยกว่าหรืออาจจะมากกว่าท้องถิ่นด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างง่ายๆ การใช้เงินงบประมาณ “รายหัว” จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน ผู้มีอำนาจจัดซื้ออาจไม่ตั้งใจจะทุจริต แต่ร้านค้าพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ค้าผู้ขายนั้น ได้ลงราคาสินค้าไว้แพงเกินจริงถึง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ต้องการกันเงินส่วนนี้มอบให้ผู้มีอำนาจจัดซื้อเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ซื้อสินค้าจากผู้ค้าตลอดไป เงิน 100 บาท กันไว้ 30 บาท หากว่ารวมเงินงบประมาณทั้งหมด 1,000 ล้านบาทหรือ 10,000 ล้านบาท เงินงบประมาณเหล่านี้จะหายไปเท่าไร ส่วนที่กันไว้กระจัดกระจายไปยังผู้อำนาจจัดซื้ออย่างทั่วถึงทั่วประเทศ ถ้าแยกเป็นบุคคลอาจจะมองเห็นว่าเป็นเงินจำนวนน้อยนิด ผู้มีอำนาจจัดซื้อบางคนอาจมีคุณธรรม มองเห็นว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินรับมาแล้วก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน แต่เราจะพบผู้มีคุณธรรมกี่คน อีกกรณีหนึ่งคืองบประมาณอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เป็นโครงการที่มีเงินงบประมาณจำนวนไม่น้อย แต่มีช่องโหว่จำนวนมากที่จะจิกกินได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นี่ยังไม่นับรวมถึงเงินงบประมาณกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและอื่นๆอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะระดับใดต่างมีข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกำกับอยู่ หากที่ใดเกิดการคอรัปชั่น อาจแสดงได้ว่า ข้าราชการให้ความร่วมมือและแสดงถึงความอ่อนแอของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ปฏิบัติหน้าที่ไม่สมกับเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผมมองโลกอย่างเป็นกลางเสมอ ในองค์กรหนึ่งย่อมมีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่ นักการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ชั่วเลวทรามไปทั้งหมด ข้าราชการก็ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีไปทั้งหมดและก็ต้องยอมรับกันว่า ในหมู่ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งอาจมีการศึกษาน้อย จิตสำนึกต่ำ ยากจนและเห็นแก่ตัว ต่างหนีไม่พ้นปัญหาคอรัปชั่น ถ้าเราเห็นว่า เราในฐานะปัญญาชน เป็นผู้มีความรู้ ผู้มีจิตใจสะอาดและมีคุณธรรมสูงส่ง เราย่อมไม่หมักหมมปัญหาเหล่านั้นให้คงอยู่กับสังคมไทย แต่เราควรร่วมมือกันประคับประคองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งและเดินต่อไปได้อย่างสง่างาม ตามแนวคิดพื้นฐาน ปรัชญาของระบบการปกครองท้องถิ่น “เป็นระบบของการกระจายอำนาจทางการปกครองไปสู่ท้องถิ่น เพื่อจัดทำการบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงตรงกับความต้องการของราษฎรและเหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องถิ่น โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกระบวนการให้การเรียนรู้ในระบบประชาธิปไตยแก่ประชาชนในระดับท้องถิ่น”
หากพูดถึงครูกับนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับ อบต., เทศบาลและ อบจ. ทุกคนล้วนเป็นศิษย์ของครูทั้งนั้น สิ่งนี้เป็นผลสะท้อนกลับมายังครูว่า “เราสอนศิษย์อย่างไร พวกเขาจึงไปเป็นนักการเมืองไร้คุณธรรมและฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างนี้”
ครูเคยโทษตัวเองบ้างหรือไม่?
วีระ สุดสังข์ หรือ เจ้าของ นามปากกา "ฟอน ฝ้าฟาง" ซึ่งปัจจุบัน เจ้าตัวเลิกใช้นามปากกานี้ไปแล้ว แต่หันมาใช้ ชื่อจริง และนามสกุลจริงแทน
โดย วีระ สุดสังข์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อการรวมกลุ่ม"วรรณกรรมลำน้ำมูล"ก่อนจะมาเป็นสโมสรนักเขียนภาคอีสาน และปัจจุบัน ก็ยังเป็นนักเขียนอาวุโส และที่ปรึกษาให้กับสโมสรนักเขียนภาคอีสานอยู่
ขออนุญาตท่านวีระ สุดสังข์ เผยแพร่บทความของท่าน สู่สายตาพี่น้องท้องถิ่น และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ
ด้วยความเคารพ
ขอบคุณที่มาของข้อมูล : ชุมชนคนท้องถิ่น วันที่ 23 พฤษภาคม 2558