รัฐลงทุนการศึกษาปี 56 สูงถึงกว่า 8 แสนล้าน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยยังคงเป็นปัญหาที่สะสมมานานสวนทางกับงบประมาณที่รัฐจัดสรรปันส่วนให้ซึ่งสูงที่สุดในทุกกระทรวงและยิ่งไปกว่านั้นสถาบันทางการศึกษาก็มักเป็นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลืออยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้การศึกษาพัฒนาไปได้ ซึ่ง รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเรื่อง การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ บอกว่า รายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า รายจ่ายรวมด้านการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบปี 2556 ปีเดียวรวมรายจ่ายจากทุกแห่งคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 805,239 ล้านบาท จากตัวเลข 5.6 แสนล้านบาทในปี 2551 เฉลี่ยแล้วกว่า 6% ของจีดีพี และกว่า 80% เป็นเงินเดือนครู บุคลากร เหลือแค่ 5% เท่านั้นที่เป็นงบฯลงทุนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนขณะที่จำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 13.1 ล้านคนในปี 2551 เหลือ 12.4 ล้านคนในปี 2556 หรือเฉลี่ยลดปีละเกือบ 2 แสนคน
โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ บอกด้วยว่า ถือว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาในระดับสูง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจ คุณภาพการจัดการศึกษาที่ยังแตกต่างกันมากระหว่างเมืองและชนบท และแตกต่างกันในภาคต่างๆ ด้วย รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนและการผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์ NOW26 วันที่ 12 พฤษภาคม 2558