สพฐ.ชะลอบรรจุผอ./รองผอ.สถานศึกษา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เหตุ"มศว"เฉลยข้อสอบผิดพลาด6ข้อ/สั่งประมวลผลใหม่-ขึ้นบัญชีเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 เม.ย.58 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหากรณีคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ยอมรับว่า ข้อสอบมีความคลาดเคลื่อน โดยแบ่งเป็นข้อสอบระดับ ผอ.สถานศึกษา 4 ข้อ และรอง ผอ.สถานศึกษา 2 ข้อ ว่า สพฐ.ได้หารือแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการจัดสอบ ซึ่งได้ข้อสรุปของแนวทางแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวข้อสอบไม่ใช่ผู้เข้าสอบ ดังนั้นจึงต้องยึดประโยชน์ของสพฐ. และผู้เข้าสอบอย่างสูงสุด โดยที่ผ่านมาผู้เข้าสอบได้ทักท้วงว่า ข้อสอบยังมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าที่ มศว ออกมายอมรับ สพฐ.จึงขอให้ มศว ไปตรวจสอบเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง และรายงานกลับมาภายในวันที่ 7 พ.ค.58 จากนั้น สพฐ.จะส่งผลคะแนนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 225 เขต ตรวจสอบภายในวันที่ 8 พ.ค.58
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้ที่ได้รับการประกาศชื่อขึ้นบัญชีในรอบแรก อยู่ระหว่างการอบรม แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา และเมื่อการประมวลผลใหม่แล้ว ก็จะทำให้มีผู้ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเพิ่มขึ้น ดังนั้น สพฐ.จะมีหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่ฯ ให้ชะลอการบรรจุแต่งตั้งทั้งหมดไว้ก่อน จากเดิมที่มีกำหนดจะต้องบรรจุให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 พ.ค.58 แต่หากเขตพื้นที่ฯ ใดจำเป็นต้องบรรจุแต่งตั้ง ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษา ก่อนก็สามารถดำเนินการได้โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก
"เมื่อมีการประมวลผลใหม่ จะทำให้มีผู้ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่ได้รับการประกาศชื่อไปแล้ว ก็ไม่น่ากังวลใจ คงไม่มีใครสอบตก เพราะสอบผ่านในรอบแรกคะแนนผ่านเกณฑ์อยู่แล้ว แต่อาจจะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงลำดับการขึ้นบัญชี เนื่องจากผลคะแนน ภาค ก.การสอบความรู้ทั่วไป ที่จัดสอบโดย มศว จะต้องไปรวมกับคะแนน ภาค ข.ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ และ ภาค ค.การสอบสัมภาษณ์ ที่สอบโดยเขตพื้นที่ฯ ซึ่งมีผลต่อการเลือกโรงเรียน เพราะผู้ที่สอบได้คะแนนสูงลำดับต้นๆ จะมีโอกาสเลือกโรงเรียนก่อน และการที่ให้ มศว กลับไปตรวจสอบความคลาดเคลื่อนของข้อสอบอีกรอบ เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีการปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้ออกข้อสอบซึ่งก็คือ มศว จะต้องไปตรวจสอบ โดยต้องตีความในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบ จะให้โทษกับผู้เข้าสอบไม่ได้ ฉะนั้น สพฐ.จะไม่โล๊ะบัญชีการสอบครั้งนี้แน่นอน นอกจากผู้เข้าสอบจะร้องเรียน และหากหลักฐานให้ได้ว่าข้อสอบของ มศว มีความผิดพลาด 100% การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคล"
นายกมล กล่าวและว่า ส่วนความรับผิดชอบของ มศว นั้น แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพการจัดสอบ ซึ่งเป็นเรื่องของ มศว ที่จะต้องไปแก้ปัญหา ในส่วนของ สพฐ. จะมีเรื่องค่าความเสียหายที่อาจต้องคิดเป็นตัวเงิน โดยเฉพาะค่าจัดอบรมผู้บริหารใหม่ และค่าจ้าง มศว ออกข้อสอบ ซึ่งเป็นตัวเงินหลายสิบล้านบาทก็ต้องหารือกับ มศว ว่าจะช่วยรับผิดชอบในส่วนนี้อะไรได้บ้าง
ด้าน ส.ต.ท.นพกร พุทธา รอง ผอ.รร.อนุบาลนางรอง(สังขกฤษณ์อนุสรณ์) จ.บุรีรัมย์ ผู้แทนกลุ่มผู้เข้าสอบคัดเลือกฯ กล่าวว่า รู้สึกพอใจระดับหนึ่ง แต่ทาง สพฐ.ได้ประสานให้ทางกลุ่มผู้ร้องทุกข์ไปรวบรวมข้อมูลความคลาดเคลื่อนของข้อสอบส่งให้ทาง มศว และ สพฐ. เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทางกลุ่มจะเร่งรวบรวมและส่งให้ภายใน 3 วัน ซึ่งเท่าที่ประเมินก็คาดว่าจะต้องได้คะแนนฟรีแน่ๆ เพราะมศว ยอมรับว่าข้อสอบทั้ง 6 ข้อมีความคลาดเคลื่อนจริง
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 29 เมษายน 2558