ผอ.สมศ.ชี้การศึกษาไทยขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ผอ.สมศ.เผยคุณภาพการศึกษาไทยยังไม่ดีมากนัก เกิดจากขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย อีกทั้งยังขาดเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) กล่าวถึงรายงานของ World Economic Forum (WEF) เกี่ยวกับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งพบว่า การศึกษาไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้าย โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาถูกจัดอยู่อันดับ 8 ตามหลังประเทศกัมพูชา และฟิลิปปินส์ว่า เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์ข้อมูลก่อนว่าเป็นข้อมูลจริง หรือเท็จ และประเมินด้านใดบ้าง ซึ่งหากพบว่าเป็นเรื่องจริงก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด โดย สมศ. พร้อมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของไทยเป็นอย่างไร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประเมินของ สมศ. ไปใช้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้วย
“จากการติดตามผลประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผมคิดว่าคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยไม่ได้ต้อยต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งผมรู้สึกแปลกใจที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่รั้งท้ายของกลุ่ม แต่ถ้ามองในแง่ดีถือว่าจะทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น โดยหลังจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพการศึกษา ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำผลประเมินไปพัฒนา ไม่ใช่แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาด้วยการยุบเลิกการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา” ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
ผอ.สมศ. กล่าวอีกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยยังไม่ดีมากนัก เกิดจากขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อย จึงทำให้นโยบายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้ยังขาดเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้ไม่มีการกำกับปริมาณเรื่องการผลิตนักศึกษา และการเปิดหลักสูตรต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยมักเปิดหลักสูตรตามความต้องการของผู้เรียน ไม่ได้เปิดตามความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นเมื่อเด็กจำนวนมากจบออกมาก็ไม่มีงานทำ อีกทั้งหลายมหาวิทยาลัยเปิดสอนโดยที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อเด็กเรียนจบออกไป และไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการก็ไม่สามารถบรรจุได้ เพราะหลักสูตรไม่ได้อยู่ในสารระบบ บางมหาวิทยาลัยมีชื่ออาจารย์ดังมาสอน แต่ไม่เคยมาสอนเลย ดังนั้นต้องเพิ่มความเข้มข้นของการตรวจสอบคุณภาพให้มากขึ้น.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน 2558