การแถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 136/2558การแถลงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ รอบ 6 เดือน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2558 เวลา 10.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และดำเนินการควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาไทยในระยะยาว โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ยึดนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินการ
โดยสรุปผลงานของกระทรวงศึกษาธิการที่สำคัญ 6 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ถือเป็นภารกิจหลัก โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้เร่งแก้ไขปัญหา
· การอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ โดยได้ดำเนินการเชิงรุกในการสำรวจไปในทุกเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาไปยังตัวนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งมีเป้าหมายให้ปีการศึกษา 2558 นี้ เป็นปีปลอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมทั้งยังได้ปรับการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียน โดยเน้นการแจกลูกสะกดคำให้เป็นไปตามหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง เสริมด้วยการจัดทำแบบฝึกอ่านภาษาไทยให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการนิเทศเพื่อพัฒนาเทคนิคการสอนให้กับครูทั่วประเทศ
· การปรับปรุงหลักสูตรและการทดสอบทางการศึกษา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้นำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เน้นการเพิ่มพูนความรู้และเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งปรับลดการทดสอบทางการศึกษา O-Net จากเดิม 8 กลุ่มสาระให้เหลือ 5 กลุ่มสาระ เพื่อให้การทดสอบให้เป็นไปตามความจำเป็นและยังคงมาตรฐานในระดับสากลไว้ โดย 3 กลุ่มสาระที่ลดลงไป ได้ให้โรงเรียนและสถานศึกษารับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
· การปรับลดกิจกรรมที่ดึงครูและนักเรียนออกจากห้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาอย่างมากและส่งผลกระทบต่อเวลาเรียนของนักเรียนในชั้นเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการทบทวนกิจกรรมทั้งหมด และบูรณาการกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกันเข้าด้วยกัน รวมทั้งตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับหลักสูตรออกทั้งหมด ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีการศึกษาใหม่นี้ จะปรับกิจกรรมให้ได้เหลือร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด
· การปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยการจัดทำโครงการนำร่องกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่พื้นที่การศึกษา 20 เขต 300 โรงเรียน ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดเอกภาพและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการศึกษา รวมทั้งได้จัด Reform Lab และ Coaching Lab เพื่อพัฒนาผู้บริหารในเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างมาก เนื่องจากแนวทางการปฏิรูปที่ตรงจุดมากที่สุด
2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เรื่องนี้ เป็นปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ
· ขยายผลโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนได้รับประโยชน์แล้ว 15,369 โรง ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,015,974 คน และกำลังขยายผลการดำเนินโครงการไปสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและมีความเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
3. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ครู เป็นปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษาไทย ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ดังนี้
· แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาที่มีความขาดแคลน โดยผลักดันให้คุรุสภาออกประกาศเพื่อกำหนดประเภทวิชาและสาขาวิชาวิชาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งจะเป็นการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีคุณวุฒิสาขาขาดแคลนสามารถขอหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาสำหรับใช้ในการสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด
· ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายและการเลื่อนวิทยฐานะ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้กับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ครูใช้เวลาในการสอนมากกว่าการใช้เวลาไปกับการทำผลงานทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน
· ปรับปรุงระบบการพัฒนาครู โดยพัฒนาระบบการพัฒนาครูจากเดิมที่มุ่งเน้นการจัดการฝึกอบรมตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์น้อยและสิ้นเปลืองงบประมาณ มาเป็นระบบการจัด Coaching Team ไปทำการฝึกอบรมให้กับครูในพื้นที่โดยตรง ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมากกว่า
· พัฒนาระบบการผลิตครู กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อนำโครงการคุรุทายาทกลับมาใช้ใหม่ โดยพัฒนาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้ในระยะยาว
· การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต โดยจะช่วยประสานให้ผู้เกี่ยวข้องชะลอการฟ้องรองดำเนินคดี การบังคับคดี และให้มีการชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเป็นเวลา 3 ปีโดยพักดอกเบี้ย ระยะปานกลาง เป็นการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้วิกฤติหรือมีหนี้ค้างมากกว่า 12 เดือน และระยะยาว เป็นการช่วยเหลือผู้ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี โดยการพิจารณาลดดอกเบี้ย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินและสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตที่ดี
4. การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ
ในอนาคตกำลังคนสายอาชีวศึกษาและสายเทคโนโลยีจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งจากทิศทางของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับ Mega Project ที่สำคัญ เช่น ระบบราง ระบบการบริหารจัดการน้ำ และระบบเศรษฐกิจดิจิตอล นั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนี้
· ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาทวิภาคี เพื่อผลิตกำลังคนอาชีวศึกษารองรับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู รวมทั้งเพิ่มทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียน โดยการฝึกอาชีพตามหลักสูตร และฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน
· จัดหลักสูตรการศึกษาแบบทวิศึกษา โดยจัดหลักสูตรสายสามัญควบคู่สายอาชีพอาชีวศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้คุณวุฒิทั้งสองสาย โดยมีระยะเวลาการจบการศึกษาใกล้เคียงกับการเรียนตามหลักสูตรปกติ ซึ่งจะทำให้เป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ รองรับการพัฒนา SMEs ของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการศึกษาต่อ
· จัดทำและดำเนินโครงการทุนช่างเทคนิคและนักปฏิบัติ หรือ TTS (Technician & Technologist Scholarship) โดยการปรับเปลี่ยนจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือ ODOS เดิม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรทุนให้กับผู้เรียนสายอาชีพ เพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อรองรับการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการภาคเอกชน เขตเศรษฐกิจ และท้องถิ่น อย่างแท้จริง
· แก้ไขปัญหาความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษาสายอาชีวศึกษา โดยการจัดทำหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา (Pre.Voc.Ed.) เพื่อให้นักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาอาชีวศึกษาได้มีโอกาสพบปะและฝึกระเบียบวินัยและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเบาใจ ลดความเป็นห่วง และส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น
5. การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
เรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่ประสานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นและเป็นประธานกรรมการเอง ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ
· ระยะเร่งด่วน กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนเป็นหลัก เนื่องจากการศึกษาและการเรียนรู้เกิดขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง
· ระยะยาว กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำแนวทาง การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบโดยให้ความสำคัญกับ การปฏิรูปการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงระบบการทดสอบทางการศึกษา ระบบการผลิตและพัฒนาครู ปรับปรุงกฎหมายการศึกษา และพัฒนาระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการและการติดตามประเมินผล ให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อการจัดการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต
6. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
การพัฒนาด้านการศึกษาเป็นพื้นฐานและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกเสาหลักของประชาคมอาเซียนทั้งเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น
· การวางยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไปจนถึงการดำเนินการภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรียกว่า Post 2015 โดยได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาเซียนศึกษาในภูมิภาค 13 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ทั้งด้านภาษาอาเซียน วัฒนธรรมและประเพณีอาเซียน รวมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน อย่างต่อเนื่อง
· ระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2558 กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 48 ซึ่งจะมีรัฐมนตรีด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ และประเทศสมาชิกสมทบ 8 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 19 ประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสานความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกัน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาคและเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
ผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการตามที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้กล่าวในที่นี้ และหมายรวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในกระทรวงให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ มีเป้าหมายสำคัญที่สุด ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาลูกหลานของเราให้เป็นพลเมืองที่มีความรู้ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการดำเนินชีวิต มีคุณธรรมจริยธรรม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีความพร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นความพึงพอใจการบริหารงานขององค์กรหลัก โดยกล่าวว่า มีความพึงพอใจในการทำงานของทุกองค์กรหลัก เพราะเห็นถึงความทุ่มเทและเสียสละในการทำงาน โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งรับผิดชอบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนตลอดจนมีโรงเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ที่ผ่านมามีความทุ่มเทในการทำงาน ส่งผลให้งานสำเร็จหลายประการ เช่น การตั้งเป้าหมายให้ปีการศึกษา 2558 เป็นปีปลอดเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นต้น ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรการศึกษาแบบทวิศึกษา การจัดการศึกษาทวิภาคี ตลอดจนการจัดสหกิจศึกษาที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามและเฝ้ามองการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการวิจัย ทุนการศึกษาต่างๆ แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้านการบริหารงานมากนัก เพราะมีสภามหาวิทยาลัยบริหารงานอยู่แล้ว และสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาเป็นอย่างดี
ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค. ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากทั้ง 3 หน่วยงานมีความเกี่ยวข้องกับผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในแง่ของการดูแลจริยธรรมคุณธรรม การอบรมครู การออกใบประกอบวิชาชีพของคุรุสภา การดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สกสค. ส่วนองค์การค้าของ สกสค.ดำเนินการผลิตสื่อการเรียนการสอน หนังสือเรียนต่างๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นและไม่ให้เกิดผลกระทบกับการศึกษาในอนาคต
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชนในการสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศในรูปแบบทวิภาคี ว่า ความร่วมมือดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถส่งนักศึกษาอาชีวศึกษากว่า 60,000 คนเข้าไปทำงานในสถานประกอบการกว่า 8,000 แห่ง และนักศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 20,000 คน ในสถานประกอบการกว่า 10,000 แห่ง ดังนั้น ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มั่นใจว่าไม่ว่าจะเรียนอาชีวะหรืออุดมศึกษาก็จะได้รับการศึกษาที่ดี ตรงกับความต้องการงานของสถานประกอบการ และมีงานทำอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี ทั้งในด้านการจัดสหกิจศึกษาและทวิภาคีในสถานประกอบการต่างๆ การสร้างกำลังคนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) และการพัฒนาด้านการถ่ายทอดและเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในปี 2558 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ มาโดยตลอด โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ตั้งพระนามรางวัลว่า ได้ดำเนินงาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” หรือ “Princess Maha Chakri Award” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีการคัดเลือกครูเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในเดือนตุลาคมนี้
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ดำเนินการจัดงานแถลงข่าวผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ชื่อ “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” นั้น ขอรายงานความก้าวหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมจัดงานซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง
การจัดงาน "มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย" มีกำหนดจัดงานในห้วงเดือนพฤษภาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ และแผนงานการเดินหน้าประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยรูปแบบการจัดงานเป็นนิทรรศการมีชีวิต ประกอบด้วย 9 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน โซนที่ 2 การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โซนที่ 3 การพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการ โซนที่ 4 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โซนที่ 5 การขยายโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โซนที่ 6 การศึกษาเพื่ออาชีพ โซนที่ 7 การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โซนที่ 8 การศึกษาตามแนวทางพระราชดำริ โซนที่ 9 การศึกษาเดินหน้าประเทศไทย ทั้งนี้ ได้นำนิทรรศการโซนต่างๆ รูปแบบฉบับย่อมาจัดแสดงไว้ด้านหน้าห้องประชุมด้วย
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF คลิกที่นี่
ที่มาของข่าว : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 23 เมษายน 2558