เผยผลสำรวจพบไอคิวเด็กไทยลดต่ำลง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สถาบันราชานุกูลเผยผลสำรวจไอคิวอีคิว เด็กไทยปี57 พบค่าเฉลี่ยต่ำลงจากปี54 เหตุสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ทั้งพ่อแม่ไม่มีความรู้การเลี้ยงดู รวมถึงปัญหาขาดแคลนครูปฐมวัย กระตุ้นรัฐลงทุนพัฒนาโครงสร้างที่เอื้อต่อการทำงานในพื้นที่ ชี้ลำพังภาครัฐไม่สามารถพัฒนาประชากรของประเทศได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพื้นที่เป็นสำคัญวันนี้(23เม.ย.)ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) พร้อมด้วยสถาบันรามจิตติ และสถาบันราชานุกูล ได้ร่วมจัดสัมมนาและแถลงข่าวผลการดำเนินงานเสริมสร้างพัฒนาการและเชาว์ปัญญาของเด็ก(ไอคิว อีคิว) ที่มีระบบสารสนเทศในการส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่โดยพ.ญ.นพวรรณ ศรีวงศ์พานิช รองผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยว่าจากการที่สถาบันราชานุกูลได้นำร่องสำรวจไอคิว อีคิว เด็กทุกช่วงวัย ปี2557 ในพื้นที่4จังหวัด ได้แก่ เชียงราย สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยาและภูเก็ต พบว่า ระดับไอคิว อีคิวของเด็กระดับประถมศึกษาปีที่1 อยู่ที่ 93.1ลดลงจากการสำรวจเมื่อปี2554 ซึ่งอยู่ที่ 94.5 โดยเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเช่น พ่อแม่ผู้ปกครองขาดความรู้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวครูปฐมวัยขาดแคลน เป็นต้น
“จากการดำเนินโครงการพบว่าระบบส่งต่อข้อมูลของเด็กแต่ละคนจะมีประโยชน์ต่อตัวเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างมากเพราะจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่าบุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็กต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กซึ่งจะมีผลต่อไอคิวของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างมาก”พ.ญ.นพวรรณ กล่าว
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสถาบันราชานุกูล ในการขยายผลการพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถค้นหาเด็กที่ต้องได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยการสื่อสารกับผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพ
ด้านดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษา สสค. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ่มค่าเพราะจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมามากถึง7 เท่า เมื่อเทียบกับการที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงเมื่อเด็กโตแล้วดังนั้นทิศทางการจัดการราชการแผ่นดินส่วนกลางจะต้องเปลี่ยนไปสู่การลงทุนพัฒนาโครงสร้างที่จะช่วยเอื้อต่อการทำงานระดับพื้นที่เช่น การมีระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประชากร การมีกองทุนเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยสำหรับครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบากและการแก้ไขกฏระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆในการพัฒนาเด็กและประชากรของประเทศเป็นต้น เพราะภาครัฐแต่เพียงลำพังคงไม่สามารถพัฒนาประชากรของประเทศได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ในการลงมือปฏิบัติ
"ผมมองว่าเรื่องของการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความสำคัญมากที่สุด เพราะหากเด็กวัยนี้ไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีก็จะส่งผลให้การศึกษาเซไปทั้งระบบแต่ผมไม่มองว่าไอคิวเด็กไทยต่ำลง เพียงแค่ไม่กระเตื้องขึ้นเท่านั้น “ ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสที่ 23 เมษายน 2558 เวลา 16:27 น.