อาลัยการศึกษาไทย เก่งเจ๋งในกระดาษ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“ความพินาศ ของระบบการศึกษา การวิจัยไทย : สร้างโปรดักต์...โปรแกรมคน หรือจะเอาแต่กระดาษ”....เป็นหัวข้อสนทนาจากหัวใจของ “หมอดื้อ” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดเวลายาวนานของระบบการศึกษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ต้องการสร้างชื่อเสียง โดยการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มค่าให้แก่นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย และเป็นบรรทัดฐานให้แก่นิสิตที่จะต้องเรียนจบปริญญาตรี โท เอก
และ...มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการจัดอันดับโลกของมหาวิทยาลัยขึ้นกับปริมาณจำนวนของการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทําให้มีการออกกฎระเบียบในปัจจุบัน คือทุนวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยต่างๆของประเทศไทย ให้มีมูลค่าผลงานตีพิมพ์ 1 เรื่อง ต่อทุน 400,000 บาท
รวมถึงนิสิตปริญญาระดับต่างๆ ซึ่งมีทุนสนับสนุนวิจัยน้อยนิด แต่ยังคงต้องกระเสือกกระสนพยายามให้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการนําไปใช้งานได้จริงหรือไม่?...ก่อให้เกิดประโยชน์จริงในการแก้ปัญหาของประเทศหรือเปล่า?
ความจริงอีกด้าน...ข้อโต้แย้งจากนักวิชาการ นักวิจัย ปัญหาของประเทศถึงพอจะรู้ทางแก้ แต่ก็ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไม่ได้ เพราะเป็นจริงเฉพาะของเมืองไทย หรือตีพิมพ์ก็ได้แต่วารสารในประเทศ ซึ่งก็ดูกระจอกงอกง่อย ไม่มีคนยอมรับ ทําให้เป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า...เป็นการวิจัยบนหอคอยงาช้าง งานวิจัยชั่งกิโลฯ
ทว่าการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์ไม่ใช่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การที่นักวิชาการ นักวิจัยไทย สามารถค้นคว้า ค้นพบของใหม่หรือของประยุกต์ ซึ่งตอบโจทย์หรือนําไปสู่กระบวนการนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคต ถือเป็นเรื่องประกาศความเก่งกาจให้ชาวโลกรู้ แม้จะเป็นการค้นพบบันไดขั้นที่ 1 หรือ 2 ก็จะเป็นแนวทางต่อถึงขั้นที่ 10
ปัญหาของประเทศ...เมื่อได้บันไดขั้นที่ 2 ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว หรือได้เหรียญรางวัลแล้ว ไฟก็ม้วยมอดไป...หมดความกระตือรือร้นที่จะทําการศึกษาต่อและทําให้เมื่อนับผลงานตีพิมพ์วิจัยของประเทศในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เราน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้าน...นํ้าหนักเป็นกิโลกรัม หรือเป็นตัน
แต่เหตุไฉน...มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งอยู่ในอันดับโลก แม้จะมีน้อยกิโลฯแต่ได้รับการยอมรับ... คุณหมอธีระวัฒน์ สะท้อนว่า ฮ่องกงเมื่อเผชิญวิกฤติโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส สามารถประคองตัว เอาตัวรอด ปรับปรุงการบริหารการจัดการ การเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องได้อย่างน่าสรรเสริญ
“มิหนําซํ้ายังมีการค้นหาสืบพบสัตว์ต่างๆที่อมโรค แพร่โรคให้มนุษย์อย่างต่อเนื่อง...แบบอย่างการโต้ตอบโรคระบาดร้ายแรง เป็นแบบฝึกหัดอย่างดีให้ประเทศไทยเลียนแบบ”
เกริ่นมาถึงเพียงนี้เพื่อเป็นที่สรุปว่าเราจะเอา...ผลงานจับต้องได้ ใช้งานได้ โปรแกรมที่นํามาปรับปรุงคุณภาพสายงาน บุคลากร การทํางาน บูรณาการ การสร้างคนที่เป็นคนชั้นยอด หรือ...จะเอาแต่กระดาษตีพิมพ์
สองขั้วข้างต้นอยู่คนละข้าง ความเป็นจริงต้องไปด้วยกัน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง...ประเทศที่เจริญแล้ว การเติบโตเป็นทุกภาคส่วนพร้อมกัน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า จนถึงมีผลผลิตใช้งานได้จริง
แต่...ระบบการศึกษาของไทยขั้นสูงสุด ยึดกล่องพุ่งต้นนํ้าก็ไม่ถึงสักที โนเบลก็ไม่ได้ จะว่ายมากลางนํ้าก็ส่งผ่านต่อไปได้ไม่ถึงปลายทาง วกวนกับงานวิจัยที่แข่งกับฝรั่งในเรื่องที่ต้นทุนเราไม่พอ โดยไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยที่งานวิจัยที่ต้องการคําตอบ...ไม่มีใครแย่งทํา เพราะตีพิมพ์ไม่ได้ ไม่ผ่านภาระงาน พิจารณาขึ้นขั้นไม่ได้
จีน...อินเดีย ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว มีไหมงานวิจัยตีพิมพ์สวยหรู แต่...วางแผนสร้างความรู้เทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ผลิตยาได้เอง มีสินค้าไฮเทคส่งออกทั่วโลก ผลิต...เครื่องจักร รถไฟ รถไฟฟ้าได้ในราคาถูก
ตามคำปราชญ์ท่านหนึ่งซึ่งต้องกราบขออภัยที่ไม่ทราบชื่อ ท่านกล่าวว่า “สัมผัสฟ้า ซับน้ำตา คือปรัชญาการวิจัย”
ไม่อยากจะพูดว่าระบบการศึกษาไทยที่เห็นๆกันขณะนี้...ล่มสลายไปเรียบร้อย พังพินาศต่อเนื่องกันมาเป็นสิบปี ไม่ได้...อยู่แค่ขั้นวิกฤติเข้าไอซียูอย่างที่นักวิชาการหลายท่านพูดปลอบใจ
ถ้าเราเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันนี้เราจะยังมีเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นเป็น เจน (เนอเรชั่น) A...เกรด A อีกใน 20-25 ปี เพราะต้องผ่านประถม มัธยม อุดมศึกษา ซึ่งต้องไม่ลืมรวมขั้นอนุบาลเข้าไปด้วย และต้องมีประสบการณ์ใช้งานได้ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้น...ต้อง “จํากัด” และ “กําจัด”...ผู้สร้าง “ระบบวงจรอุบาทว์” ที่เกิดขึ้นให้ได้
คุณหมอธีระวัฒน์ ยอมรับว่าไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสกว่าท่านทั้งหลาย ...ยังต้องก้มหน้าก้มตาทํางานเป็นข้ารับใช้ระบบ ที่ต้องมีภาระงานนานาตามที่กําหนด แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันคงได้เห็นหลักฐานแจ้งประจักษ์แล้วว่าวงจร (อุบาทว์)...การศึกษาของไทย นอกจากไม่สร้างคน ยังทําลายคนรุ่นใหม่อย่างไม่ยั้งมือ
ตั้งแต่ อนุบาล...กลัวเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ จับเด็กเล็กที่ควรพัฒนาสมองให้เปิดกว้างซึมซับธรรมชาติอย่างถูกต้อง จับมาท่องศัพท์ คิดเลข อัจฉริยะ ขั้น มัธยม...มีติว จะเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งหนัก การเรียนการสอนนอกระบบห้องเรียน แท้จริงคือจับเข้าอีกห้องของโรงเรียนกวดวิชา ที่ครูติวมีชื่อเสียงแถมรวยอีกต่างหาก เพราะติวตรงข้อสอบ...ให้ตอบตรงที่ถาม ฉะนั้นเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับสอบ ชั่งมัน
เพื่อให้ไต่เต้าระดับการศึกษา...จนจบปริญญาโท–เอก ความใฝ่รู้ หาความรู้ด้วยตนเองเป็นแค่คําขวัญและความฝันของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นแค่โฆษณา...เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติตามตัวหนังสือโก้เก๋
ประสบการณ์จากการได้ไปสอนแพทย์จากอินเดีย เนปาล มัลดีฟส์ เป็นเวลา 6 วัน ตามภารกิจการเป็นศูนย์ร่วมองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับไวรัสสัตว์สู่คน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่แตกต่างหลังมือเป็นหน้ามือ คือไม่มีใครหลับตั้งแต่ 08.30 ยัน 17.30...เตรียมคําถามมาเพียบ...เอารูปผู้ป่วยมาให้ดู ถกปัญหาที่มีในปัจจุบันและปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต ทั้งที่เกิดในพื้นที่เอง...จากนอกพื้นที่ รวมถึงโรคติดต่อ...โรคที่ไม่ติดต่อที่เกิดจากความเจริญของมนุษย์สารพัด
ตลอด 6 วัน แม้จะชื่นใจที่งานลุล่วงและเป็นแม่แบบในการอบรมครั้งต่อๆไป แต่อดสะท้อนใจไม่ได้กับสภาพของนักเรียน นิสิตในเมืองไทย ...ความที่ต้องอยู่ในแวดวงการศึกษามาหลายสิบปีจะโทษนักเรียนก็ไม่ถูก
เพราะแต่ละหลักสูตร แต่ละรายวิชาหวังดี ยัดเยียดความรู้ประดามีในโลกให้เด็กกันมโหฬาร เด็กเองไม่มีโอกาสคิดด้วยซํ้าว่ามีข้อสงสัยไหม ต้องเล็งว่าครูสอนเน้นตรงไหนสําหรับสอบ ไม่เคยรู้ว่าปัญหาเมืองไทยอยู่ที่ไหน เรียนเรื่องวิชาต่างๆมากมายจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนสำคัญสําหรับชีวิต
และสําหรับการทํางานในอนาคตเพื่อตนเองและสังคม ไม่มีโอกาสหา...ความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสารความเป็นไปในโลก ทำเพียงตอบให้แม่นเวลาสอบ เก็บคะแนน...เป็นของขวัญพ่อแม่ เพื่อได้ประดับตนในการเรียนต่อในขั้นสูง
ระดับอุดมศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยก็มุ่งเกียรติยศ ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องทําวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีแต้มต่อสูง ทุนก็หายาก เวลาก็ไม่มี บ้านก็ต้องเช่าหรือยังผ่อน ครอบครัวก็เพิ่งเริ่มต้น ได้งานวิจัยแบบเบี้ยหัวแตก ตอบโจทย์ให้ใครไม่รู้
ระบบการศึกษาที่มุ่งหวังเรียนสูงๆ สร้างปริญญาเอกเป็นแสน เพื่ออะไร...คงต้องทบทวน.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 เมษายน 2558