มาตรา 44 กับการศึกษา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เรียกว่าเป็นเซอร์ไพรส์ส่งท้ายสัปดาห์อย่างยิ่ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามาตรา 44 ของรัฐธรรมนนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ลงนามในประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 6/2558 และ 7/2558 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 87 ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 ซึ่งแม้รายละเอียดของเนื้อหาคำสั่งดังกล่าวจะมีเพียง 3 หน้าก็ตามที แต่เรียกว่าเป็นการสร้างความสั่นสะเทือนให้กับกระทรวงศึกษาธิการและแวดวงการศึกษาอย่างยิ่งคำสั่งที่ 6/2558 นั้นเป็นการปรับย้ายและแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงใน ศธ.แบบฟ้าผ่าถึง 6 ตำแหน่งเลยทีเดียว โดยย้ายนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา และให้นายกำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามาเป็นปลัด ศธ.แทน, นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา ย้ายเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ และให้นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ตรวจราชการ มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และให้นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ในขณะที่คำสั่งที่ 7/2558 นั้นก็มีการปรับย้ายครั้งใหญ่เช่นกัน แต่มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา, คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกรรมการคุรุสภา ตามมาตรา 12 (1) (3) (4) และ (5), กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 64 (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และกรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาพ้นจากตำแหน่งทันที และไม่ให้มีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาแทน
สำหรับกรรมการคุรุสภาที่ต้องพ้นตำแหน่งตาม พ.ร.บ.สภาครูนั้นก็คือ ประธานกรรมการ, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมการอีกรวม 23 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเอง ในขณะที่กรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯ ที่ต้องพ้นเก้าอี้ที่กำหนดนั้นคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้ง และกรรมการ 12 คน ที่เลือกกันเอง
ที่สำคัญ ในคำสั่งที่ 7/2558 ยังมีคำสั่งให้เลขาธิการคุรุสภา, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหยุดการปฏิบัติหน้าที่
การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องแวดวงการศึกษาครั้งนี้ ระบุเหตุผลไว้ว่าเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีประสิทธิภาพและเหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ!!! แต่หากพินิจพิเคราะห์ถึงคำสั่งดังกล่าว โดยเฉพาะคำสั่งที่ 7/2558 ในช่วงท้ายที่ระบุว่าให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใดของคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของบุคคลที่ให้พ้นตำแหน่งและหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วรายงานผลให้หัวหน้า คสช.รับทราบโดยเร็วด้วยแล้ว
นัยที่ชัดแจ้งถึงคำสั่งข้อนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวพันเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เพราะมีคำครหาหนาหูมาต่อเนื่องในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของคุรุสภา และหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวกับงบประมาณจำนวนมาก
ต้องยอมรับว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยสอดแทรกและเป็นประเด็นสำคัญทั้งในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของทุกรัฐบาล หรือแม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่างก็มีเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นหลักอยู่ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากงบประมาณด้านการศึกษาในเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งบ่งชี้ความชัดเจนถึงความสำคัญในด้านการศึกษา
โดยเมื่อปี 2551 กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณ 301,437.4 ล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ 2558 ได้รับงบประมาณถึง 502,245.5 ล้านบาท เพิ่มมากถึง 200,808 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดและมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ประสิทธิผลที่ออกมาก็ต้องยอมรับว่าสวนทางกันอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องของอีคิวและไอคิว โดยดูได้จากการสอบวัดต่างๆ รวมถึงข่าวสังคมในด้านลบของเยาวชนในวัยศึกษาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข่าวดีมาผสมบ้างแต่กลับเป็นเพียงส่วนน้อย หรือที่เรียกว่าเป็นแค่เพียงพวกหัวกะทิเท่านั้น สะท้อนอย่างชัดแจ้งว่าการปฏิรูปการศึกษาที่พร่ำเอ่ยกันนั้นมีความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งถือเป็นยาแรงครั้งแรกในการผ่าตัดแวดวงการศึกษานั้น ก็ได้แต่หวังว่าได้ประโยชน์โพดผลอย่างจริงจัง มิใช่แค่การล้างการปรับขั้วอำนาจเก่าที่หลงเหลืออยู่ในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปการศึกษาให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” ได้อย่างแท้จริง.
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 18 เมษายน 2558