ยุทธศาสตร์สนช. ดันปฏิรูปศึกษาระยะยาว
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยุทธศาสตร์สนช. ดันปฏิรูปศึกษาระยะยาวโดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
นโยบายการศึกษาถูกมองว่าไม่เท่าทันปัญหาและเปลี่ยนแปลงบ่อยจนหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะช่วงหลังที่พรรคการเมืองนำการศึกษามาหาเสียงแบบประชานิยม
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว) ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า แม้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษารอบนี้จะออกมาพูดถึงเรื่องนี้ไม่บ่อยนัก แต่ สนช.ด้านนี้ก็ยังทำงานหนัก เพราะทราบดีว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของเรื่องการปฏิรูปประเทศ
“เมื่อเป็นห่วงว่าการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นานสุดก็ 4 ปี แต่เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่นโยบายไม่ควรเปลี่ยนทุก 4 ปี ประเทศที่นโยบายเข้มแข็งจะเปลี่ยนทุก 10 ปี ระหว่างนั้นจะศึกษาวิเคราะห์วิจัยทุกปีจนตกผลึก และดูผลว่านโยบายที่เคยลองเปลี่ยนในรอบ 10 ปีนั้นได้ผลแค่ไหน ไม่ใช่เปลี่ยนและยกเลิกตามการเมือง”นพ.เฉลิมชัย กล่าว
นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่สรรหามาจากทุกภาคส่วนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา เข้ามาวางนโยบายให้ดำเนินการยาวกว่า 4 ปี หรือต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ถือเป็นแผนหลักด้านการศึกษาที่ฝ่ายการเมืองไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลปกครองประเทศต้องไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
อธิการบดี มศว เล่าอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาในระยะยาว สนช.ด้านการศึกษากำลังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกบางประเด็น เช่น จะให้เด็กเรียนฟรีกี่ปี ถกเถียงตีความร่วมกันว่า การศึกษาภาคบังคับคืออะไร โดยที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้เคยลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศมาแล้ว รวมไปถึงเรื่องของการประเมินการศึกษา ที่ถกกันว่าสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทำอยู่หน่วยงานเดียวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สมศ.ต้องประเมินโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง มหาวิทยาลัยอีกนับ 100 ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือมีเวลาแค่ 1,800 วัน เท่ากับต้องประเมินกันวันละกว่า 10 แห่ง แต่ต้องเสร็จเพราะไม่อย่างนั้นผิดกฎหมาย ผลก็คือประเมินอย่างมีคุณภาพไม่ทัน เรื่องนี้เราแก้กฎหมายเปลี่ยนเป็นการประกันคุณภาพ โดยไม่ต้องประเมินทุกแห่งภายใน 5 ปี เน้นประเมินเฉพาะที่มีปัญหา”นพ.เฉลิมชัย กล่าว
นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ประเด็นดังกล่าวเคยลงไปรับฟังความเห็นจากพื้นที่ต่างๆ 4 ภูมิภาค เห็นตรงกันว่าต้องเปลี่ยน โดยเสียงที่สะท้อนกลับมามีตั้งแต่เบาไปหาหนัก เบา คือมี สมศ.อย่างเดิม แต่สรรหาบอร์ดหรือผู้อำนวยการที่เข้าใจการประเมินระดับกลางให้ สมศ.ประเมินแค่การศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วให้หน่วยงานอื่นประเมินมหาวิทยาลัยและยาแรงคือ ยุบ สมศ.
ขณะเดียว กัน การปฏิรูปการศึกษารอบนี้ยังพุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปครูและบุคลากรการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญ โดยมองว่าต้องให้ครูมาก่อน เพราะพบว่าแม้โรงเรียนบางแห่งจะมีอุปกรณ์การสอนไม่พร้อม ผู้บริหารไม่เก่ง เด็กไม่สนใจเรียน แต่ถ้าครูเก่ง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนก็ยังออกมาดี นอกจากนี้ สนช.ยังถกกันถึงเรื่องของการส่งเสริมให้คนเรียนสายอาชีพมากขึ้นอีกด้วย
“ผมเสนอว่าเรียนมหาวิทยาลัยให้เรียกว่า “สายวิชาการ” เรียนอาชีวะให้เรียกว่า “สายวิชาชีพ” โดยรวม แพทย์ วิศวกร ทันตแพทย์ มารวมเป็นสายวิชาชีพไปด้วย แล้วปล่อยให้สายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ เป็นวิชาการไป โจทย์คือจะแยกสองสายอย่างไรไม่ให้เหลื่อมล้ำในความรู้สึก ก็นำไปถกเถียงกันว่าเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร” อธิการ มศว กล่าว
“ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา หากอยากเห็นผลการเปลี่ยนชั่วข้ามคืนนั้น ไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ต้องใช้เวลา คนทำงานด้านการศึกษาจึงลำบากทุกคน เพราะทำอะไรจะไม่ทันใจใครทั้งนั้น”นพ.เฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 เมษายน 2558