LASTEST NEWS

21 ธ.ค. 2567ปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปี 2568 20 ธ.ค. 2567สพป.บึงกาฬ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชี สพม.หนองคาย) จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 20 ธ.ค. 2567​​​​​​​กรมบัญชีกลาง เปิดสอบพนักงานราชการ 27 อัตรา ไม่ต้องผ่าน ภาค ก ตั้งแต่ 3 - 24 มกราคม 2568 19 ธ.ค. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย เขตอื่น ใช้บรรจุ 2 วิชาเอก 13 อัตรา รายงานตัว 26 ธันวาคม 2567 19 ธ.ค. 2567สพป.มหาสารคาม เขต 2 เผยบัญชีตำแหน่งว่างใช่บรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 5  19 ธ.ค. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 45 อัตรา 18 ธ.ค. 2567ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 10/2567 18 ธ.ค. 2567สพม.สงขลา สตูล เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 10 อัตรา - รายงานตัว 24 ธันวาคม 2567 18 ธ.ค. 2567กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 21 อัตรา สมัครทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 21 มกราคม 2568 18 ธ.ค. 2567 โอกาสดีมาถึงแล้ว!  ทุนเรียนต่อครู สควค. ม.เกษตรศาสตร์ เปิดรับสมัครทั่วประเทศ จบแล้วบรรจุเป็นครูทันที! สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 10 ม.ค. 2568

เสนอตั้งสภาปฏิรูปศึกษาฯ ทำงาน10ปี ดูแลนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ป้องกันการเมืองแทรกแซง

  • 04 ธ.ค. 2557 เวลา 08:05 น.
  • 1,432
เสนอตั้งสภาปฏิรูปศึกษาฯ ทำงาน10ปี ดูแลนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ป้องกันการเมืองแทรกแซง

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

เสนอตั้งสภาปฏิรูปศึกษาฯ ทำงาน10ปี ดูแลนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ป้องกันการเมืองแทรกแซง
 
กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ เสนอตั้งสภาปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิรูปการศึกษาของประเทศให้มีความต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี และป้องกันการเมืองแทรกแซงนโยบาย หลังจากนั้นให้ยุบสภาการปฏิรูปฯ และเป็นที่ปรึกษาแทน "อมรวิชช์" ชี้ช่วง 10 ปีเป็นระยะเตรียมความพร้อมสังคมเข้าสู่ระบบการศึกษาใหม่ที่ประชาชนทุกกลุ่มจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง ด้านปรับโครงสร้าง ศธ. ส่อยก สกอ., สอศ.เป็น ทบวง ส่วน สกศ.ทำหน้าที่พัฒนากำลังคนป้อนระบบ
 
    วันที่ 3 ธันวาคม ที่รัฐสภาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แถลงการจัดทำร่างเนื้อหาด้านการปฏิรูปการศึกษา ที่เตรียมเสนอให้ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ บรรจุร่างดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยนายอมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครอง ผู้ผลิตด้านเศรษฐกิจ และอนาคตประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้เรียนเท่านั้น และที่ผ่านมาก็มีปัญหาในหลายเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา ปัญหาการบริหารจัดการด้านการศึกษา ครูและโรงเรียนไม่มีคุณภาพ เป็นต้น หากจะทำเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้นก็ต้องมีการปรับในเรื่องโครงสร้างของระบบการศึกษาใหม่ เพื่อที่จะเปลี่ยนผลลัพธ์ทางการศึกษาให้ดีขึ้น
 
    โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ กล่าวต่อว่า ร่างเนื้อหาด้านการศึกษานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง วิธีคิด ในการจัดการศึกษาของประเทศ มีสาระสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ 1.การศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐจึงต้องกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติที่มีความสำคัญสูงสุด โดยต้องมีความเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาประเทศทุกด้าน เพราะ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มองว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ที่จะต้องมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของในหลายๆ กระทรวง ทำให้ต้องมีการบูรณาการการทำงานข้ามกระทรวง เพื่อให้การศึกษาสามารถพัฒนาได้ตอบโจทย์ของประเทศมากขึ้น เช่น เรื่องอุตสาหกรรม, การพัฒนาสังคม เป็นต้น ไม่ใช่การตอบโจทย์เฉพาะในเรื่องวิชาการ และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เท่านั้น
 
    2.รัฐต้องปรับเปลี่ยนและลดบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงการกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผล และส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดและสนับสนุนการศึกษา ในเรื่องนี้ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดการการศึกษา เพราะหากใช้วิธีการบริหารจัดการในรูปแบบเดิม ผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบเดิมเช่นกัน ฉะนั้นการศึกษาจะต้องมีความหลากหลาย กระจายอำนาจให้พื้นที่เป็นผู้จัดการการศึกษา ในระดับจังหวัด ท้องถิ่น เป็นต้น 
 
    3.รัฐต้องส่งเสริมความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษาให้สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระและรับผิดชอบต่อคุณภาพของผลการจัดการศึกษา และทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน ในประเด็นนี้เป็นปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษาไม่มีส่วนในการรับผิดชอบในการจัดการศึกษา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ทำให้การจัดการศึกษาสามารถจะทำอย่างไรก็ได้
 
    4.การจัดการศึกษาต้องสร้างความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยรัฐต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เพียงพอต่อการได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพแก่ผู้เรียน ตั้งแต่ปฐมวัยถึงการศึกษาภาคบังคับ ตามความแตกต่างของผู้เรียนและสถานศึกษา ในประเด็นนี้ รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวจะต้องมีความเพียงพอ และสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานศึกษา บริบทของพื้นที่ และสภาพตัวผู้เรียนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง
 
    5.การจัดการศึกษาต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสากลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายตามบริบทและความแตกต่างของภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้และความสามารถในการประกอบอาชีพการงานของบุคคลตลอดชีวิต เหตุผลที่จะต้องบรรจุเรื่องนี้ลงในรัฐธรรมนูญ เพราะแต่ละพื้นที่จะมีความรู้และความเข้าใจ ความต้องการในด้านต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ หากสามารถบริหารจัดการได้เอง ก็จะทำให้การศึกษาตอบโจทย์ของพื้นที่และประเทศได้มากขึ้น 
 
    6.รัฐต้องส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ในสังคมไทย โดยให้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทยที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และในเรื่องนี้ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มองว่า หากจะปฏิรูป ในกระบวนการการเรียนรู้ใหม่จะต้องมีการดึงสื่อสารสนเทศเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมสื่อหรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ไม่ได้มีนัยยะเฉพาะผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการผลิต พัฒนาครูที่มีคุณภาพด้วย 7.นโยบายการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากกลุ่มผลประโยชน์  
 
    นายอมรวิชช์กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้การปฏิรูปการศึกษาสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยเร่งด่วน และรัฐต้องจัดให้มีกลไกระดับชาติและคณะบุคคลเพื่อดูแลการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อพัฒนาคนเข้าสู่ระบบและกติกาใหม่ เปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐ เตรียมความพร้อมภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น และนโยบายการปฏิรูปการศึกษาจะต้องปราศจากการแทรกแซงใดๆ จากกลุ่มผลประโยชน์ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษา สร้างธรรมาภิบาล และก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนและประเทศชาติ     ทั้งนี้ ทาง กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องของโครงสร้างและการปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อจะทำให้การปฏิรูปสามารถดำเนินไปได้ และข้อเสนอทั้งหมดนี้มีการยกร่างไว้แล้ว และหวังว่าจะได้รับการบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้มีความหวังที่จะประสบความสำเร็จ
 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการกระจายอำนาจทางการศึกษาอาจจะมีปัญหาในเรื่องความพร้อมในการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร นายอมรวิชช์กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในทุกๆ ภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระยะเวลาในการปฏิรูปให้ได้อย่างน้อย 10 ปี โดยเริ่มกระจายอำนาจจากพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน และขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ และถือเป็นการลดบทบาทของภาครัฐในการจัดการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ของคนตามบริบทของพื้นที่ได้ การกระจายอำนาจจะทำให้มีผู้ที่เข้ามาช่วยจัดการศึกษามากขึ้น เพื่อจะให้เกิดการศึกษาที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มากขึ้น แต่รัฐบาลยังคงต้องมีบทบาทในการจัดการศึกษาในบางลักษณะที่มีความจำเป็นอยู่ และรัฐสามารถจัดการศึกษาได้ดี เช่น การจัดการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส การจัดการศึกษาแก่กลุ่มเฉพาะ เป็นต้น
 
    “ผมเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะต้องมีกลไกระดับชาติที่สามารถรักษาระยะการปฏิรูปถึง 10 ปีให้ได้ โดยที่ไม่มีกลุ่มที่มีผลประโยชน์แทรกแซง ซึ่งนี่ถือเป็นหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญการศึกษาฉบับนี้" นายอมรวิชช์กล่าว และว่า ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวก็คงจะเป็นคณะบุคคลที่มาจากทุกภาคส่วน ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน มีอำนาจที่จะบริหารจัดการนโยบายทางการศึกษา แต่มีระยะเวลาที่จำกัดคือ ตั้งขึ้นจนการปฏิรูปสามารถดำเนินไปได้แล้วเสร็จ ก็อาจจะมีการยุบกลไกดังกล่าว หรืออาจจะแปลงเป็นสภาที่ปรึกษาด้านการศึกษา ที่สามารถให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับด้านการศึกษาได้ ส่วนเรื่องกระบวนการในการคัดเลือกยังไม่มีการพูดคุย แต่จะต้องโปร่งใสและเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่กลไกดังกล่าวจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดนั้นจะต้องมีการพูดคุยกันใน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกครั้ง” โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ กล่าว
 
    ด้านนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ศธ.มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. เป็นประธาน และ รมช.ศธ.อีก 2 คนเป็นรองประธาน ทั้งนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะที่ปรึกษา ได้แก่ ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นายตวง อันทะไชย, นายทิชา ณ นคร และนายมีชัย วีระไวทยะ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ ซึ่งตนจะนำข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาที่ รมว.ศธ.ให้ไปรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม โดยมี 3 เรื่องหลักคือ การปฏิรูปเชิงนโยบาย การปฏิรูปการบริหารจัดการ และการปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งในแต่ละเรื่องจะมีรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งเรื่องของการปรับโครงสร้าง ศธ. ที่จะมีการแยก สกศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
 
    อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ศธ.ที่ผ่านมา ทั้ง 3 องค์กรได้มีการนำเสนอการปรับโครงสร้างต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้มอบหมายให้กลับไปจัดทำรายละเอียด หลังจากนี้ สกศ.จะรวบรวมข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯ ต่อไป เบื้องต้นกระทรวงเกิดใหม่คงไม่มีหรืออาจจะมีกระทรวงการอุดมศึกษาตามที่ สกอ.เสนอ สำหรับในส่วนของ สกศ.มีมุมมองจากภายนอกว่า ขณะนี้แนวทางการพัฒนาการศึกษากับกำลังคนไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง จึงอยากเห็น สกศ.ไปทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนจะไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ยังแน่ใจ ถ้าบทบาทจำเป็นต้องไปสังกัดสำนักนายกฯ ก็ต้องไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคมนี้ น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
 
    ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) จากการประชุม ศธ.ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการปฏิรูปการศึกษา และการปรับโครงสร้างที่จะแยก สอศ., สกอ. และ สกศ. โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า สอศ.จะเป็นทบวงการอาชีวศึกษา มีฐานะเป็นทบวงสังกัด ศธ. เพื่อให้การทำงานเชื่อมต่อกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้จังหวัดเป็นฐานในการจัดอาชีวศึกษา ส่วน สกศ.และ สกอ.จะแยกออกจาก ศธ. ซึ่งในส่วนของ สกอ.ได้นำเสนอที่จะเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา แต่ รมว.ศธ.เห็นว่าควรจะกลับไปเป็นทบวงมหาวิทยาลัยตามเดิม.
 
 
  • 04 ธ.ค. 2557 เวลา 08:05 น.
  • 1,432

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

ความคิดเห็นเกี่ยวกับ : เสนอตั้งสภาปฏิรูปศึกษาฯ ทำงาน10ปี ดูแลนโยบายให้มีความต่อเนื่อง ป้องกันการเมืองแทรกแซง

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^