ศธ.สั่งลดอบรมครูตามโรงแรมใช้พื้นที่วัดแทน-ประหยัดงบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยวานนี้ (8 ต.ค.) ภายหลังตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานใหญ่ มีครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกว่า 4 แสนคน งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท แต่สังคมมองว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐ ทุ่มเทลงไป
ดังนั้นการประชุมร่วมกับผู้บริหาร สพฐ. จึงได้หยิบยก 2 ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กและเกี่ยวข้องกับการใช้งบ ประมาณอย่างไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมาหารือ
ประเด็นแรก คือ ปัญหาเรื่องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันการอบรมครูมักจัดในรูปแบบอบรมสัมมนาตามโรงแรมระยะเวลา 3-4 วัน ใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดงาน ซึ่ง สพฐ.รายงานให้ทราบว่า มีการจัดอบรมสัมมนาครูในลักษณะนี้หลายครั้ง บางงานเป็นการอบรมขนาดใหญ่ เช่น การอบรมครูพลศึกษากว่า 7,000 คน
อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เสียเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม ตั้งแต่ค่าโรงแรม ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง แต่งานวิจัยกลับชี้ว่า การอบรมครูในลักษณะนี้ไม่คุ้มค่า และไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
เพราะฉะนั้นจะให้ สพฐ.ปรับรูปแบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ ลดการจัดสัมมนาอบรมตามโรงแรมลงทันที และเปลี่ยนมาใช้วิธีจัดอบรมพัฒนาครูในพื้นที่แทน ให้ครูมาถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ของแต่ละคน ซึ่งจะประหยัดและเกิดผลประโยชน์มากกว่า
โดยให้ สพฐ. ไปจัดทำรายละเอียดรูปแบบการพัฒนาครูตามแนวทางดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ทันทีในปี 2558 การให้ครูไปนอนค้างคืนอบรมพัฒนาตามโรงแรมไม่ได้ประโยชน์อะไร ควรเอาเงินไปพัฒนาครูในรูปแบบอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์แทน
"จริงๆ แล้ว สามารถใช้สถานที่ต่างๆ ในชุมชน แม้กระทั่งวัด ก็ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมได้ เชิญวิทยากรเก่งๆ มาให้ความรู้แก่ครู ครูก็ไม่ต้องทิ้งโรงแรมไปอบรมนอกพื้นที่ ผมเชื่อว่าจะทำให้ครูได้ประโยชน์กลับไปมากกว่า และประหยัดงบด้วย" พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องการพัฒนาครูแล้วยังได้พูดถึงปัญหาเรื่องเด็กเรียนถูกดึงตัวออกจากห้องเรียน โดยไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรง เช่น กิจกรรมเดินชูป้ายรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด กิจกรรมปลูกป่า เป็นต้น
กิจกรรมเหล่านี้ มาจากหน่วยงานภาคนอกกระทรวง ซึ่งเข้าใจดีว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ และจัดทำขึ้นด้วยความหวังดีต่อเด็ก แต่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียน และกิจกรรมเหล่านี้ก็มีเข้ามาในโรงเรียนจำนวนมาก ข้อมูลของ สพฐ. พบว่า แต่ละปีมีกิจกรรมลักษณะนี้เข้ามาให้สถานศึกษากว่า 60 โครงการต่อปี