ชงบอร์ดสมศ.ชะลอประเมินฯรอบสี่ทุกระดับ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชงบอร์ดสมศ.ชะลอประเมินฯรอบสี่ทุกระดับเครือข่ายอุดมฯ เสนอ สมศ.ชะลอประเมินฯรอบสี่ทุกระดับการศึกษา หลังผลประเมินไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง “ชาญณรงค์” เตรียมนำถกบอร์ด 26 ส.ค.นี้
วันนี้ (25 ส.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ได้เชิญผู้แทนเครือข่ายอุดมศึกษา 4 เครือข่าย ได้แก่ ทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อหารือถึงการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ รวมถึงกรณีที่ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศระงับใช้หมวด 6 เรื่องมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สำหรับระดับอุดมศึกษา เป็นการชั่วคราว โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ควรชะลอการประเมินคุณภายภายนอกรอบสี่ทุกระดับการศึกษา และทบทวนโครงสร้าง ตอลอดจนกระบวนการในการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาของชาติสะท้อนคุณภาพการศึกษาทุกระดับอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องทบทวนการประเมินภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ด้วย เพื่อให้ระบบประกันสะท้อนคุณภาพการศึกษา และสถาบันผู้ถูกประเมินสามารถนำผลไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนได้
“ระบบประกันคุณภาพการศึกษาดำเนินการมา 14 ปีแล้ว แต่ยังไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง และไม่สอดคล้องกับบริบทของการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เราควรต้องมาทบทวนบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกันใหม่ด้วย เช่น สมศ. สกอ. และสภาวิชาชีพ โดยสมศ. ควรทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่ สกอ. ควรทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ ซึ่งจากการพูดคุยในที่ประชุม ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสมศ. ก็ค่อนข้างเห็นด้วย และรับที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ. วันที่ 26 สิงหาคมนี้ “ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรอบเวลาที่ สมศ. ต้องเริ่มประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ในเดือนตุลาคม 2558 นั้น ยอมรับว่าเป็นข้อกังวล เพราะ สมศ. ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด แต่คิดว่าหากทุกฝ่ายยอมเสียเวลา เพื่อให้การประเมินเป็นไปในมิติของการส่งเสริมคุณภาพมากกว่าการจับผิด อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง อุดมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และสมศ. คงต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการประเมินที่เหมาะสม และรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา นอกจากนี้หากมีกฎหมายอะไรที่ต้องปรับแก้จะได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาต่อไป.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 สิงหาคม 2557