'สมาร์ทคลาสรูม' สพฐ.เนื้อหอม
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
'สมาร์ทคลาสรูม' สพฐ.เนื้อหอมยักษ์ไอที จ้องงาบโปรเจ็กต์สมาร์ทคลาสรูม สพฐ. ที่มีงบประมาณจากการที่ คสช. สั่งโละโครงการจัดซื้อแท็บเลตนักเรียนปี 2556-57 เหลือเกือบ 7 พันล้าน ชี้โอกาสเปิดกว้างมากกว่า ไม่มีเงื่อนไขราคาจำกัด พร้อมระบุเด็กได้ประโยชน์จากสมาร์ทคลาสรูม ในวงกว้างมากกว่าแท็บเลตที่แจกไปใช้งานส่วนตัว
สืบเนื่องจากโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเลต)ต่อ 1 นักเรียน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกเลิกโครงการไปก่อนหน้านั้นเป็นโครงการในปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้นม. 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่ยังค้างอยู่ เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสม โดยมีงบประมาณรวมเกือบ 7 พันล้านบาท ล่าสุดงบดังกล่าว ถูกปรับมาใช้ในโครงการสมาร์ท คลาสรูมแล้วนั้น
ล่าสุดนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า บริษัทให้ความสนใจโครงการสมาร์ท คลาสรูม ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นอย่างมาก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามรายละเอียดโครงการและเงื่อนไขการประมูล โดยบริษัทมีความพร้อมด้านฮาร์ดแวร์ ทั้งเครื่องแม่ข่าย หรือ เซิร์ฟเวอร์ , พีซี คอมพิวเตอร์พกพา หรือ โน้ตบุ๊ก และแท็บเลต , ซอฟต์แวร์ ทั้งซอฟต์แวร์บริหารจัดการเนื้อหา หรือ คอนเทนต์ รวมไปถึงตัวเนื้อหาการเรียนการสอน
"มองว่าสมาร์ทคลาสรูมน่าจะเปิดกว้างมากกว่าแท็บเลต ที่มีข้อจำกัดด้านราคา ขณะที่ประโยชน์จากการศึกษาจริงๆ ที่เด็กนักเรียนจะได้รับจากแท็บเลตนั้นยังไม่ชัดเจน ส่วนสมาร์ทคลาสรูมนั้นรูปแบบเนื้อหาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้แท็บเลตเชื่อมต่อเท่านั้น โดยสามารถใช้งานได้ทั้งโน้ตบุ๊กและพีซี ซึ่งมองว่าน่าจะช่วยให้เด็กได้รับประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า"
ด้านนายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทกำลังติดตามโครงการสมาร์ทคลาสรูมอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าเป็นโครงการด้านการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้กำลังรอข้อสรุปในเรื่องของโซลูชัน ทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ ของโครงการดังกล่าวอยู่ หากมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาก็พร้อม จัดโซลูชันเข้าไปนำเสนอ สพฐ. ผ่านทางผู้วางระบบทันที โดยบริษัทมีความพร้อมทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ โดยมีทั้งแท็บเลต ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และวินโดว์ส ,โน้ตบุ๊กที่ใช้ระบบปฏิบัติการโครม และวินโดว์ส
"เปลี่ยนจากโครงการจัดซื้อแท็บเลตแจก มาเป็นสมาร์ทคลาสรูม จะทำให้เด็กได้รับประโยชน์ และตอบโจทย์การเรียนการสอนมากกว่า การแจกแท็บเลตไปใช้งานส่วนบุคคล
ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ในเรื่องของจำนวน เนื่องจากสมาร์ทคลาสรูมนั้นทำให้เด็กทุกชั้นปี สามารถเข้ามาใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้ "
ขณะที่บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับโรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา จังหวัดปทุมธานี ในการพัฒนาห้องเรียนต้นแบบ สมาร์ทคลาสรูม ขึ้นมา โดยภายใต้ แนวคิด สมาร์ท คลาสรูม ของไมโครซอฟท์ ประกอบไปด้วยการผสาน 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1. ความพร้อมของบุคลากรครู 2. เนื้อหาการเรียนการสอนแบบดิจิตอล , 3. ซอฟต์แวร์และบริการ และ 4.อุปกรณ์ หรือ ดีไวซ์ที่นำมาใช้ในห้องเรียน
ล่าสุด สพฐ. ได้นำเสนอโครงการห้องสมาร์ทคลาสรูมด้วยกัน 3 ขนาดตามขนาดของโรงเรียน คือ โรงเรียนขนาดเล็กสามารถรองรับนักเรียนได้ไม่เกิน 20 คน มูลค่าประมาณห้องละ 200,000 บาท โรงเรียนขนาดกลาง 40 คน ประมาณ 400,000บาท และโรงเรียนขนาดใหญ่ 50 คน ประมาณ 600,000 บาท โดยในแต่ละห้องจะมีครุภัณฑ์พื้นฐาน ได้แก่ เครื่องแท็บเลตสำหรับนักเรียนและครู (มีมาตรฐานสูงกว่าที่เคยจัดซื้อ) เครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว พร้อมระบบควบคุมเครื่องแท็บเลตกระดานอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเครื่องฉายภาพระยะสั้นโต๊ะวางเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับครู เก้าอี้คอม พิวเตอร์สำหรับครูตู้จัดเก็บแท็บเลตพร้อมระบบชาร์จแบตเตอรี่ และระบบเครือข่าย
ทั้งนี้เบื้องต้นประมาณการไว้ว่างบประมาณทั้งโครงการทั้งของปี2557 และ โซน 4 ปี 2556 ของทุกหน่วยงานรวมกันจะสามารถจัดห้องสมาร์ทคลาสรูมได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ห้อง
นอกจากนี้ได้มีการเสนอเปลี่ยนชื่อโครงการจาก"โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา(แท็บเลต)" เป็น"โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา"เพื่อนำไปสู่การขอเปลี่ยนแปลงงบ
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,962 วันที่ 3 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557