การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไ
นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาล
เมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
ผู้วิจัย : ไพเราะ ใจชื่น
ตำแหน่ง : ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน)
ปีที่ทำวิจัย : ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ เพื่อศึกษาผลการใช้การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นเด็กปฐมวัย ชาย-หญิง อายุระหว่าง 4-5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 27 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง จากนักเรียนทั้งหมด 6 ห้องเรียน เลือกมา 1 ห้องเรียน ซึ่งเป็นชั้นที่ผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น โดยทำการทดลอง สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 40 นาทีรวมระยะเวลาในการทดลอง 8 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 40 ครั้ง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แผนการจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) จำนวน 40 กิจกรรม ใช้เวลาแผนละ 40 นาที และแบบทดสอบวัดทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น .91 แบบแผนการวิจัยเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบทดลองกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One-Group Pre-test Post-test Design) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้ t-test for Dependent samples
ผลการวิจัยพบว่า
1.ผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยใช้แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นรายด้าน คือ ด้านการสังเกต การเปรียบเทียบ การบอกตำแหน่ง การรู้ค่าจำนวน และการจำแนกประเภท อยู่ในระดับมากที่สุด
2.ผลการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์โดยใช้แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทยของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (4-5 ปี) โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดภูเขาดิน) สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ สูงขึ้นกว่าก่อนการใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01