"กมล" ดันฟื้นสอบตกเรียนซ้ำ
“กมล”ยอมรับ 1 ใน 3 ของเด็กป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เตรียมตั้ง กก.ยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนครบวงจร ดันฟื้นสอบตกเรียนซ้ำชั้น
วันนี้ (29 ต.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงข้อมูลของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่พบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยเฉพาะ ป.3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก ว่า ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทำการสำรวจเรื่องการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 600,000 คน พบว่า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ประมาณ 35,000 คน อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ประมาณ 200,000 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่มาก เพราะเป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของเด็กชั้น ป.3 ทั้งหมด และที่ผ่านมา สพฐ.ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยส่งสื่อการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆไปบ้างแล้ว และล่าสุดตนได้หารือกับนายวินัย รอดจ่าย กรรมการ กพฐ. และเห็นว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน โดยเชิญนางวีณา อัครธรรม อดีตที่ปรึกษา สพฐ.ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เป็นประธาน เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอย่างครบวงจร
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะทำงานใน 4 ขั้นตอน คือ 1.การขอข้อมูลของเด็กนักเรียนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกแห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลล่าสุดที่สุด 2.เชิญนักวิชาการที่มีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มาประชุมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประมวลผลว่านวัตกรรมใดที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้กับเด็กกลุ่มไหน และในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งนวัตกรรมในเรื่องนี้ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งการสอนแบบคาราโอเกะ หรือ การแยกกลุ่มสอน เป็นต้น 3.เชิญผู้อำนวย สพท. ศึกษานิเทศก์ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่ออบรมนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ และ 4.จัดส่งสื่อการเรียนการสอนไปให้โรงเรียน โดยคาดว่าประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้น่าจะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนแรกได้
"ต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เลื่อนขึ้นมาเรียนอยู่ชั้น ป.3 หรือสูงกว่าได้เป็นเพราะนโยบาย ศธ. ที่กำหนดไม่ให้เด็กตกแล้วต้องเรียนซ้ำชั้น เด็กสอบไม่ผ่านก็ให้สอบแก้ หรือไม่ก็ให้ทำกิจกรรมอื่นแทนแล้วปล่อยให้ผ่าน ซึ่งก็เหมือนเป็นการหมักหมมปัญหาเอาไว้ ไม่เหมือนกับโรงเรียนเอกชนที่สามารถให้เด็กที่สอบไม่ผ่านซ้ำชั้นได้ ทั้งนี้ หากจะแก้ไขนโยบายของ ศธ.ในประเด็นดังกล่าว ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องมีการแก้ไขกฏกระทรวงให้ รมว.ศธ.เป็นผู้ลงนามให้ความเห็นชอบ " ดร.กมล กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามตนจะนำปัญหานี้ไปหารือกับคณะกรรมการยกระดับการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนก่อน เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วจึงนำมาหารือในที่ประชุม กพฐ. และที่ประชุมกระทรวงต่อไป อย่างไรก็ตามส่วนตัวตนอยากให้มีการนำระบบสอบตกซ้ำชั้นกลับมาใช้อีก.
ที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 ตุลาคม 2557