สพฐ.ร่อนหนังสือ วอนเขตพื้นที่ชะลอตั้ง ผอ.รร.
สพฐ.ส่งหนังสือถึงผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ขอความร่วมมือชะลอแต่งตั้งผอ.โรงเรียนในตำแหน่งที่ว่าง สนองนโยบาย"ณรงค์"ในการใช้อัตราว่างสำหรับการรับย้ายและบรรจุแต่งตั้ง ในสังส่วน 50:50
วันนี้ (21 ต.ค.) นายรังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกลุ่มสมาคมรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เนื่องจากขณะนี้บัญชีผู้ผ่านการสรรหาในตำแหน่งดังกล่าวไม่มีบัญชีสอบอยู่ ดังนั้น จึงทำให้การสรรหาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดไว้ คือ ให้อำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้ทำให้กลุ่มรองผอ.สถานศึกษา มีความกังวลใจว่า หากมีการรับย้ายได้ทั้งหมดจะทำให้กลุ่มรองผอ.สถานศึกษาเสียสิทธิ์ในการบรรจุแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาในพื้นที่ และอาจต้องไปบรรจุแต่งตั้งในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจไม่ใช่พื้นที่ของตนเองจึงขอร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการกำหนดxxxส่วนผู้สอบขึ้นบัญชี 50% และ xxxส่วนการรับย้าย 50%ให้ชัดเจนก่อนแม้จะยังไม่มีรายชื่อผู้สอบขึ้นบัญชี
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่าเมื่อเร็วๆนี้ สพฐ. ได้ทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เรื่องการย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อขอความร่วมมือมือ ตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายบริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการนั้น เนื่องจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายในการใช้อัตราว่างสำหรับใช้ในการรับย้ายและบรรจุแต่งตั้งจากบัญชีผู้ผ่านการสรรหาในอัตรา 50 : 50 ของตำแหน่งว่าง ดังนั้นจึงขอให้เขตพื้นที่การศึกษาร่วมมือดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ด้วย
“สพฐ.ต้องขอความร่วมมือไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เนื่องจาก สพฐ.ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้เขตพื้นที่ฯดำเนินการอะไรได้ แต่หากต้องการจะแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ให้อำนาจ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯพิจารณาได้ตามความเหมาะสมนั้น จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นผู้พิจารณาซึ่งกลุ่มที่มาร้องเรียนก็กลัวว่าจะได้รับผลกระทบและเสียสิทธิ์ในการสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งนี้ ในปัจจุบันรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.มี กว่า 10,000 คน” นายรังสรรค์ กล่าว.
ที่มามาของข่าว : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 ตุลาคม 2557