แก้ปัญหาครู
นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการผลิตครู และได้มอบหมายให้ สกศ.ไปตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการผลิตครูที่มีคุณภาพ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เกี่ยวกับการแก้ปัญหาระบบผลิตและพัฒนาครู เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา (ครม.) นำไปใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวม ดังนั้น ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย จึงได้เสนอชื่อผู้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ชุดดังกล่าวให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยผู้แทนจาก สกศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจะเชิญนายพินิติ รตะนานุxxxล เลขาธิการ สกศ.และนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาเป็นที่ปรึกษา หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบรายชื่อตามที่เสนอ คาดว่าจะประชุมนัดแรกวันที่ 22 ตุลาคมนี้
นายพิษณุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ คุรุสภาล่าสุด พบว่า ปัจจุบันเด็กเก่งนิยมสมัครเรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มากขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมาคะแนนเฉลี่ยของเด็กที่สอบได้ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สูงกว่าคณะวิทยาศาสตร์บางสาขา โดยเฉพาะสาขาคณิตศาสตร์ ดังนั้น เมื่อมีคนนิยมเรียนมาก ทำให้จำนวนรับนักศึกษาต่อปีของสถาบันฝ่ายผลิตต่างๆ สูงตามไปด้วย โดยปีนี้อยู่ที่ประมาณ 50,000 คน ทำให้แต่ละปีมีบัณฑิตที่จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จำนวนมากเกินความต้องการ และไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ รวมถึง ความต้องการของผู้ใช้ กระทบถึงคุณภาพในภาพรวม
"หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือจะต้องไปวิเคราะห์ถึงแนวทางการพัฒนาการผลิตครูทั้งระบบ ทั้งหลักสูตร ที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ จำนวนรับนักศึกษา คุณภาพของสถาบันฝ่ายผลิต คุณภาพผู้เรียน ที่จะทำให้ระบบผลิตครูมีคุณภาพ สามารถผลิตครูเก่ง ดี มีจิตวิญญาณความเป็นครูมาสอนเด็กได้ เพราะถ้าเราได้ครูดี ก็จะได้นักเรียนที่ดี โตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศตามไปด้วย" นายพิษณุกล่าว
ที่มาของข่าว : มติชน ฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2557 (กรอบบ่าย)