การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ ก
การจัดกิจกรรมการเรียนสุขศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในการรักษาสุขภาพร่างกาย การจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาสามารถนำไปพัฒนาผู้เรียนเต็มตามศักยภาพ มีทักษะในการแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนสามารถนำวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเพื่อศึกษา ความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 โรงเรียนชุมชนหนองกุงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่อง ใส่ใจสุขภาพ จำนวน 12 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องใส่ใจสุขภาพ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยาก (p) 0.53–0.80 อำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.20–0.55 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.82 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ จำนวน 15 ข้อ ที่มีค่าอำนาจจำแนก (rxy) ตั้งแต่ 0.35–0.65 มีค่าความเชื่อมั่น (α ) เท่ากับ 0.89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 80.04/81.89
2. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่ากับ 0.7025 แสดงว่ามีความก้าวหน้าใน การเรียนคิดเป็นร้อยละ 70.25
3. นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อยู่ในระดับมาก
โดยสรุป การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบซิปปา เรื่องใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเหมาะสมทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น จึงควรสนับสนุนส่งเสริม ให้ครูนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาสุขศึกษาในเนื้อหาสาระอื่น ๆ ต่อไป