รายงานผลการศึกษารูปแบบการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ที่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
สุนันทา ศรีจันทร์
รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบสอบ
รูปแบบการสอนแบบสืบสอบเป็นการสอนที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธี การฝึกให้ผู้เรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางความคิด หาเหตุผลจนค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง โดยผู้สอนตั้งคำถามประเภทกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความคิดหาวิธี การแก้ปัญหาได้เอง และสามารถนำวิธีการแก้ปัญหานั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
วิธีการสอนแบบสืบสอบ ผู้สอนจะต้องจัดสร้างสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ หรือสิ่งเร้าต่าง ๆที่เป็นปัญหาให้ผู้เรียนได้ฝึกสังเกต เปรียบเทียบ จนเห็นปัญหาและเกิดความสงสัยใคร่รู้ แล้วครูกระตุ้นให้ผู้เรียน หาสาเหตุของปัญหาด้วยการใช้คำถาม จากนั้นให้มีการตั้งสมมติฐานเชิงทำนายแล้วพิสูจน์ ต่อมาให้ผู้เรียนช่วยกันสรุป ในที่สุดครูส่งเสริมให้ผู้เรียนนำหลักการและกฎเกณฑ์ที่ค้นพบไปใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้ เกิดการควบคุม และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในสภาพการณ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
ความหมายของรูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบสอบ
วิธีสอนแบบสืบสอบเป็นที่รู้จักกันหลายชื่อ เช่นวิธีสอนแบบสืบสวนสอบสวน วิธีสอนแบบสอบสวน วิธีสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ มาจากภาษาอังกฤษว่า Inquiry Method และให้ความหมายไว้ต่างกัน ดังนี้
ชาตรี เกิดธรรม (2542: 76) กล่าวว่า วิธีสอนแบบสืบสวนสอบสวนเป็นวิธีสอนที่ฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้โดยใช้กระบวนการทางความคิดหาเหตุผล จะค้นพบความรู้หรือแนวทางที่ถูกด้วยตนเอง โดยผู้สอนตั้งคำถามประเภทกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้เอง และสามารถ นำการแก้ปัญหามาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ภพ เลาหไพบูลย์ (2542: 123) กล่าวว่าการสอนแบบสืบเสาะความรู้เป็นการสอนที่เน้นกระบวนการแสวงหาความรู้ที่ช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบความจริงต่างๆ ด้วยตนเอง ให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรง ในการเรียนรู้เนื้อหา
พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์ (2544: 56) ให้ความหมายวิธีสอนแบบสืบสอบ หมายถึง การจัดการเรียน การสอนโดยวิธีให้นักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ครูเป็น ผู้อำนวยความสะดวก เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย วิธีสืบสอบความรู้จะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของ การเรียน
ทิศนา แขมมณี (2551: 141) กล่าวว่าการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการการสืบสวนสอบสวน (Inquiry Instrution) หมายถึง การดำเนินการเรียนการสอนโดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดคำถาม เกิดความคิด และลงมือเสาะแสวงหาความรู้เพื่อนำมาประมวลหาคำตอบหรือข้อสรุปด้วยตนเอง โดยที่ผู้สอนช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้เรียน เช่น ในด้านการสืบค้นหาแหล่งความรู้ การศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์ การสรุปข้อมูล การอภิปรายโต้แย้งทางวิชาการและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ราชบัณฑิตยสถาน (2551: 255) กล่าวว่ากระบวนการสืบสอบเป็นรูปแบบหนึ่งของการสอนที่มุ่งพัฒนาทักษะและความสามารถในการสืบสอบหาความรู้หรือคำตอบที่ต้องการโดยการใช้สถานการณ์ปัญหา กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ดำเนินการแสวงหาข้อมูลทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้และสรุปหาคำตอบ
จากความหมายของวิธีสอนแบบสืบสอบ สรุปได้ว่า วิธีสอนแบบสืบสอบเป็นวิธีการจัดการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางความคิด ค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาได้เองและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก
วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบสอบ
รูปแบบนี้มุ่งพัฒนาทักษะในการสืบสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจโดยอาศัยกลุ่มซึ่งเป็นเครื่องมือทางสังคมช่วยกระตุ้นความสนใจหรือความอยากรู้ และช่วยดำเนินการแสวงหาความรู้หรือคำตอบที่ต้องการ
กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการสืบสอบ
วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542: 17) กล่าวถึง ขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน(Inquiry process) ไว้ 5 ขั้น ดังนี้
1. กำหนดปัญหา
- จัดสถานการณ์หรือเรื่องราวที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียน สังเกต สงสัยในเหตุการณ์หรือเรื่องราว
- กระตุ้นให้ผู้เรียนระบุปัญหาจากการสังเกตว่าอะไรคือปัญหา
2.กำหนดสมมติฐาน
- ตั้งคำถามให้ผู้เรียนร่วมกันระดับความคิด
- ให้ผู้เรียนสรุปสิ่งที่คาดว่าจะเป็นคำตอบของปัญหานั้น
3.รวบรวมข้อมูล
- มอบหมายให้ผู้เรียนไปค้นคว้าหาข้อมูลจากเอกสารหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ
- ให้ผู้เรียนวิเคราะห์และประเมินว่า ข้อมูลนั้นมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือไม่ มีความถูกต้องน่าเชื่อถือเพียงใด
4.ทดสอบสมมติฐาน
- ให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันอภิปรายเพื่อสนับสนุนสมมติฐาน
5.สร้างข้อสรุป
-ให้ผู้เรียนสรุปว่าปัญหานั้นมีคำตอบหรือข้อสรุปอย่างไร อาจสรุปในรูปของรายงานหรือเอกสาร
ไสว ฟักขาว (2544: 102-104) กล่าวถึงขั้นตอนการสอนแบบสืบสวนสอบสวนไว้ 6 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นนำเสนอสถานการณ์หรือสิ่งที่เป็นปัญหา โดยครูอาจเล่าเรื่องโดยใช้สื่อหรืออุปกรณ์ภาพประกอบหรือนำของจริงมาแสดงก็ได้
2. ขั้นสังเกต ครูให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งที่ครูเสนอโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรืออาจใช้เครื่องมือบางอย่างช่วยก็ได้
3. ขั้นอธิบาย ครูให้ผู้เรียนคิดสาเหตุของปัญหาแล้วตั้งสมติฐานเกี่ยวกับปัญหานั้นจากความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
4. ขั้นทดสอบ ครูให้ผู้เรียนช่วยกันตั้งคำถามเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาให้มากที่สุดเพื่อทดสอบสมมติฐาน โดยครูจะไม่พยายามตอบคำถามในลักษณะที่จะอธิบายคำตอบของปัญหา แต่อาจตอบเพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เท่านั้น นอกจากการถามแล้ว ครูอาจให้ผู้เรียนศึกษาหรือทำการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานด้วยก็ได้ในกรณีที่เรื่องไม่ยุ่งยากและใช้เวลาไม่มาก
5.ขั้นสรุป ครูให้ผู้เรียนสรุปความรู้ที่ได้จากขั้นทดสอบเพื่ออธิบายคำตอบของปัญหา
6.ขั้นนำความรู้ไปใช้ ครุกระตุ้นให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
ทิศนา แขมมณี (2545: 246- 248) กล่าวว่ารูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบมี 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ให้ผู้เรียนเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ที่ชวนให้งุนงงสงสัย
ปัญหาหรือสถานการณ์ที่ใช้ในการกระตุ้นความสนใจและความต้องการในการสืบสอบและแสวงหาความรู้ต่อไปนั้น ควรเป็นปัญหาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความสนใจของผู้เรียน และจะต้องมีลักษณะที่ชวนให้งุนงงสงสัย เพื่อท้าทายความคิดและความใฝ่รู้ของผู้เรียน
ขั้นที่ 2 ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาหรือสถานการณ์นั้น
ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และพยายามกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งหรือความแตกต่างทางความคิดขึ้น เพื่อท้าทายให้ผู้เรียนพยายามหาทางเสาะแสวงหาข้อมูลหรือวิธีการพิสูจน์ทดสอบความคิดของตน เมื่อมีความแตกต่างทางความคิดเกิดขึ้น ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนที่มีความคิดเห็นเดียวกันรวมกลุ่มกัน หรืออาจรวมกลุ่มโดยให้แต่ละกลุ่มมีสมาชิกที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันก็ได้
ขั้นที่ 3 ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนในการแสวงหาความรู้
เมื่อกลุ่มมีความคิดเห็นแตกต่างกันแล้ว สมาชิกแต่ละกลุ่มช่วยกันวางแผนว่า จะแสวงหาข้อมูลอะไร กลุ่มจะพิสูจน์อะไร จะตั้งสมมติฐานอะไร กลุ่มจำเป็นต้องมีข้อมูลอะไร และจะไปแสวงหาที่ไหน หรือจะได้ข้อมูลนั้นมาได้อย่างไร จะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว จะวิเคราะห์อย่างไร และจะสรุปผลอย่างไร ใครจะช่วยทำอะไร จะใช้เวลาเท่าใด ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะการสืบสอบ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะกระบวนการกลุ่ม ผู้สอนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผน แหล่งความรู้ และการทำงานร่วมกัน
ขั้นที่ 4 ให้ผู้เรียนดำเนินการแสวงหาความรู้
ผู้เรียนดำเนินการเสาะแสวงหาความรู้ตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ผู้สอนช่วยอำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำและติดตามการทำงานของผู้เรียน
ขั้นที่ 5 ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลข้อมูล นำเสนอและอภิปรายผล
เมื่อกลุ่มรวบรวมข้อมูลได้มาแล้ว กลุ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล ต่อจากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผล อภิปรายผลร่วมกันทั้งชั้น และประเมินผลทั้งทางด้านผลงานและกระบวนการเรียนรู้ที่ได้รับ
ขั้นที่ 6 ให้ผู้เรียนกำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการสืบเสาะหาคำตอบต่อไป
การสืบสอบและเสาะแสวงหาความรู้ของกลุ่มตามขั้นตอนข้างต้นช่วยให้กลุ่มได้รับความรู้ ความเข้าใจ และคำตอบในเรื่องที่ศึกษา และอาจพบประเด็นที่เป็นปัญหาชวนให้งุนงงสงสัยหรืออยากรู้ต่อไป ผู้เรียนสามารถเริ่มต้นวงจรการเรียนรู้ใหม่ ตั้งแต่ขั้นที่ 1 เป็นต้นไป การเรียนการสอนตามรูปแบบนี้ จึงอาจมีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตามความสนใจของผู้เรียน
จิตรลดา แสงปัญญา (2555:232-233) ได้ระบุขั้นตอนการสอนแบบการฝึกกระบวนการสืบสอบ(Inquiry Training) ไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้นเผชิญกับปัญหาที่น่าฉงนสงสัย
ผู้สอนเป็นฝ่ายเริ่มการสอนด้วยการเสนอสถานการณ์ที่เป็นปัญหา และอธิบายกระบวนการสืบสอบอันได้แก่ จุดมุ่งหมายและกระบวนการของคำถามประเภทตอบรับหรือปฏิเสธ เช่น เพราะเหตุใดวันทองจึงไม่ยอมตัดสินใจที่จะเลือกไปอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งระหว่างขุนแผน ขุนช้าง และจมื่นไวยวรนารถ หรือ การที่พระเวสสันดรชาดกยกกัณหา-ชาลี ให้แก่ ชูชก แสดงว่าพระเวสสันดรรักพระองค์มากกว่ารักโอรสธิดา จริงหรือไม่
2.ขั้นรวบรวมข้อมูล
ในขั้นนี้ผู้เรียนจะพยายามรวบรวมข้อมูลจากจุดมุ่งหมาย จากเงื่อนไขต่าง ๆและจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสืบสวนหาความรู้ข้อมูลนี้อาจได้ จากการศึกษารายละเอียด จากการสังเกต หรือจากประสบการณ์ เช่น การรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบปัญหาเรื่องนางวันทอง ในขั้นนี้ ผู้เรียนต้องศึกษาภูมิหลังของนางวันทองตั้งแต่การได้รับการอบรมเลี้ยงดู พฤติกรรมขุนแผน ขุนช้างที่แสดงต่อนาง ค่านิยมของสังคมสมัยอยุธยา ฯลฯ
3.ขั้นรวบรวมข้อมูลเพื่อการทดสอบ
ในขั้นนี้ผู้เรียนจะวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นที่ 1 และแสวงหาลักษณะข้อมูลที่เหมือนและต่างกันเพื่อใช้เป็นข้อสังเกตและข้อสรุปนำไปสู่การตั้งสมมติฐาน
4.ขั้นประมวลความคิดเพื่อให้คำอธิบาย
ผู้เรียนจะต้องพยายามสร้างกฎและประมวลคำอธิบายจากข้อมูลต่าง ๆที่รวบรวมได้ในขั้นที่ 1,2,3 เพื่อตอบหรืออธิบายสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือทดสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น
5.ขั้นการวิเคราะห์กระบวนการสืบสอบ ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์กระบวนการและกลวิธีในการสืบสอบของแต่ละคน และกระตุ้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาวิธีการที่น่าพึงพอใจขึ้นกว่าเดิม
การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ ผู้สอนจะมีบทบาทมากในขั้นที่ 1-3 เพื่อควบคุมชั้นเรียนให้ดำเนินไปตามจุดประสงค์ที่วางไว้ โดยเฉพาะในขั้นที่ 2 ผู้สอนจะต้องคอยช่วยเหลือผู้เรียนเน้นคำถามของผู้เรียนให้เป็นคำถามประเภทตอบรับหรือปฏิเสธเท่านั้น และถ้าจำเป็นผู้สอนจะต้องรู้รายละเอียดใหม่ๆ หรืออาจตั้งคำถามที่เหมาะสมเพื่อเน้นตัวปัญหาให้ชัดขึ้น สำหรับผู้เรียนมีหน้าที่ในการเสาะแสวงหาความรู้ด้านการสอบถามข้อมูล การอภิปรายในระหว่างกลุ่มผู้เรียน หรืออภิปรายกับผู้สอน การรวบรวมข้อมูลเพื่อตั้งสมมติฐานและการทดสอบข้อมูลจนได้ผลสรุปในที่สุด
จากขั้นตอนการเรียนการสอนแบบสืบสอบ สรุปได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้นสังเกต เป็นขั้นที่ผู้สอนสร้างสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและตั้งคำถามต่าง ๆจากสถานการณ์นั้น เพื่อให้ผู้เรียนสังเกตและประเมินสถานการณ์ทีได้รับ เป็นการกระตุ้นและเร้าความสนใจของผู้เรียน
2.ขั้นอธิบาย เป็นขั้นที่ผู้สอนกระตุ้นความคิดของผู้เรียนโดยการตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้เรียนพยายามหาคำอธิบาย หาสาเหตุของปัญหาหรือตอบโจทย์จากคำถามในขั้นแรก โดยพยายามให้ผู้เรียนนำความรู้ประสบการณ์เดิมและข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นการฝึกความคิดของผู้เรียนจากเหตุไปสู่ผลและจากผลไปสู่เหตุ
3.ขั้นทำนายและทดสอบ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำข้อมูลทั้งหมดร่วมกันอภิปรายความเป็นไปได้ของคำตอบและทดลองหาคำตอบของปัญหาจากวิธีการทั้งหมดที่คาดคะเนไว้เพื่อดูว่าวิธีการใดจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด โดยผู้สอนเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเมื่อนักเรียนต้องการ
4.ขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้ไปปรับใช้กับสถานการณ์หรือปัญหาใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
ผู้เรียนจะสามารถสืบสอบและเสาะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เกิดความใฝ่รู้และมีความมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น และได้พัฒนาทักษะการสืบสอบ (inquiry skill) ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific process skill) และทักษะการทำงานกลุ่ม (group work skill)
การวิเคราะห์รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบ หลักการและแนวคิดจากทฤษฎีการเรียนการสอนภาษา ทฤษฎีของรูปแบบกระบวนการสืบสอบ
หลักการและแนวคิดจากทฤษฎีการเรียนการสอนภาษา รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบ
รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการ(Process Skill)ที่เกี่ยวข้องกับวิธีดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นกระบวนการทางสติปัญญา เช่น กระบวนการสืบสอบแสวงหาความรู้ หรือกระบวนการคิดต่าง ๆ ปัจจุบันการศึกษาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต
จอยส์และวีล (ทิศนา แขมมณี. 2545 : 246- 248 ; อ้างอิงจาก จอยซ์และวีล, 1996 : 80 - 88) เป็นผู้พัฒนารูปแบบนี้จากแนวคิดหลักของเธเลน(Thelen) 2 แนวคิด คือ แนวคิดเกี่ยวกับการสืบเสาะแสวงหาความรู้ (inquiry) และแนวคิดเกี่ยวกับความรู้ (knowledge) เธเลนได้อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกหรือความต้องการที่จะสืบค้นหรือเสาะแสวงหาความรู้ก็คือ ตัวปัญหา แต่ปัญหานั้นจะต้องมีลักษณะที่มีความหมายต่อผู้เรียนและท้าทายเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความต้องการแสวงหาคำตอบ นอกจากนั้นปัญหาที่มีลักษณะชวนให้เกิดความงุนงงสงสัย (puzzlement) หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด จะยิ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะเสาะแสวงหาความรู้หรือคำตอบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมนุษย์อาศัยอยู่ในสังคม ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม เพื่อสนองความต้องการของตนทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม ความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลหรือในกลุ่ม จึงเป็นสิ่งที่บุคคลต้องพยายามหาหนทางขจัดแก้ไขหรือจัดการทำความกระจ่างให้เป็นที่พอใจหรือยอมรับทั้งของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในเรื่อง “ความรู้” นั้น เธเลนมีความเห็นว่า ความรู้เป็นเป้าหมายของกระบวนการสืบสอบทั้งหลาย ความรู้เป็นสิ่งที่ได้จากการนำประสบการณ์หรือความรู้เดิมมาใช้ในประสบการณ์ใหม่ ดังนั้น ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ค้นพบผ่านทางกระบวนการสืบสอบ (inquiry) โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์
เหตุผลที่เลือกรูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบ
รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับ การสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งเป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้หาข้อมูล เก็บข้อมูล ใช้ความคิด ตั้งคำถาม ตอบคำถาม อย่างอิสระทำให้ผู้เรียนได้ฝึกแก้ไขปัญหา ใช้ความคิดและเป็นวิธียั่วยุความสนใจให้ผู้เรียนอยากติดตาม เพื่อค้นหาความจริงต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้หากผู้สอนจัดลำดับเนื้อหาและกิจกรรมต่างๆไว้เป็นอย่างดี จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ดี และช่วยพัฒนาผู้เรียนในด้าน 1) ทักษะทางปัญญาโดยผู้เรียนได้ใช้ความคิดและสติปัญญาในการหาข้อมูลแสดงเหตุผลอย่างอิสระ นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาการตัดสินใจของผู้เรียนอย่างมีเหตุผล 2) ทักษะทางสังคม ทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่น ในเหตุผล กล้าที่จะนำเอาความเข้าใจของตนมาใช้ปฏิบัติจริงได้ กล้าคิดกล้าแสดงออก หรือรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 3)ทักษะทางการปฏิบัติ เป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน มีความรอบคอบ รู้จักการสังเกตตั้งคำถามและแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อนซึ่งสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีในรายวิชาภาษาไทย ที่เน้นในด้านภาษา คือการพิจารณาวรรณคดีในแง่ของเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสื่อความหมาย หรือสื่อสารทางภาษา อาจเน้นพัฒนาการ ทางภาษาที่ปรากฏในวรรณคดี ศิลปะการใช้ภาษา หรือศึกษาในแง่ภาษาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบการสอนที่เน้นด้านพัฒนาการของผู้เรียนสามารถทำได้โดยการปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความรัก สนุกสนานในการอ่านวรรณคดี มีนิสัยรักการอ่าน จึงทำให้ผู้รายงานมีความสนใจที่จะศึกษาและเลือกรูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการสืบสอบเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป
บรรณานุกรม
จิตรลดา แสงปัญญา. (2555). “เทคนิคการสอนแบบการฝึกกระบวนการสืบสอบ (Inquiry Training) ” ในประมวลสาระชุดวิชาสารัตถะและวิทยวิธีทางวิชาภาษาไทย หน่วยที่ 4 กรุงเทพมหานคร สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ชาตรี เกิดธรรม. (2542). การสอนวิทยาศาสตร์เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง.กรุงเทพฯ: บริษัทเซ็นเตอร์ดิสคัฟเวอร์จำกัด.
ทิศนา แขมมณี. (2545). รูปแบบการเรียนการสอนทางเลือกที่หลากหลาย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
____________. (2551). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์. (2544). การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ:แนวคิดวิธีและเทคนิคการสอน 1. กรุงเทพฯ: เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป แมเนจเม้นท์.
ภพ เลาหไพบูลย์. (2542). แนวการสอนวิทยาศาตร์.กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2551). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ อักษร A-Lฉบับราชบัณฑิตยสถาน.กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.
วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2542). แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพฯ: แอล.ที. เพลส.
ไสว ฟักขาว (2544). หลักการสอนสำหรับการเป็นครูมืออาชีพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เอมพันธ์.