การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๖
โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model)
ชื่อผู้ประเมิน นางวราภรณ์ มโนรัตน์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่ประเมิน 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน ดังนี้ 1. เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อมของโครงการ 2. เพื่อประเมินปัจจัยการดำเนินงานของโครงการ 3. เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ และ 4. เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ ผู้ประเมินใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ เป็นกลุ่มบุคคลของโรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง จำนวน 72 คน ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน 2) ครูผู้สอน จำนวน 11 คน ซึ่งได้มาโดยการเทียบตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan, 1970: 608) 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 27 คน และ 4) ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 27 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selecting) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย แบบสอบถามเพื่อประเมินโครงการ จำนวน 10 ฉบับและแบบสัมภาษณ์ จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) ผลการประเมินโดยสรุป ดังนี้
ผลการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการเกี่ยวกับการประเมินความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการและวัตถุประสงค์ของโครงการ พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านวัตถุประสงค์ของโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ความเป็นไปได้ของโครงการ และด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ สอดคล้องกับผลจากการสัมภาษณ์ของครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความต้องการให้มีการจัดทำโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากสภาพสังคม ปัญหาและความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับหลักการและเหตุของการจัดทำโครงการ นอกจากนี้ผู้บริหารสถานศึกษา และครูมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดี บุคลากรได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะส่งผลให้โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนสามารถดำเนินงานต่อไปและสามารถจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยการดำเนินงาน (Input Evaluation) ของโครงการเกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องและความเพียงพอของงบประมาณ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง พบว่า ในภาพรวม มีความเหมาะสมและความเพียงพอของปัจจัยการดำเนินงานของโครงการอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) ของโครงการเกี่ยวกับการวางแผน
การดำเนินงานตามแผน การตรวจสอบประเมินผลของโครงการ และการปรับปรุง และพัฒนาโครงการของ 5 กิจกรรมตามโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการสรุปได้ ดังนี้
4.1 ผลการดำเนินการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสถานศึกษา ได้ครอบคลุมทั้ง 5 กิจกรรม
อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ นักเรียนได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างทั่วถึงทุกคน และบุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชนและภาคีเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ในระดับการปฏิบัติมากที่สุด เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มผู้ให้ข้อมูล พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ลำดับสุดท้าย
4.2 ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 พบว่า มีคะแนนรวมเฉลี่ยระดับ 3 ขึ้นไป ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คิดเป็นร้อยละ 62.50 และเมื่อพิจารณารายกลุ่มสาระการเรียนรู้ พบว่า ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้มีคะแนนรวมเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนด
4.3 ผลการประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง พบว่า ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
4.4 ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนและครูผู้สอน จากการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๖ มิ่งเมือง ในปีการศึกษา 2564 พบว่า ได้รับรางวัลตั้งแต่ระดับจังหวัดขึ้นไป จำนวน 12 รายการ
เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ไม่น้อยกว่า 5 รายการ ผ่านเกณฑ์ตามกำหนดบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ