ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย
ผู้วิจัย นายนเรศ ดวงทิพย์
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนา
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย 2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ
ดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย และ
3) เพื่อศึกษาผลการบริหารสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการ
ดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย
(Descriptive research) โดยมีตัวอย่างในการวิจัยประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มให้ข้อมูลสภาพ
ปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประกอบด้วย ผู้บริหาร
สถานศึกษา คณะครูและ ผู้สนับสนุนห้องเรียนจำนวน 289 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง
(Purpose Sampling) 2) กลุ่มประเมินแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้
เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารศึกษาและการจัดการศึกษาจำนวน
7 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purpose Sampling) และ 3) กลุ่มประเมินผลการบริหาร
สถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานประกอบด้วย คณะครู ผู้สนับสนุนห้องเรียนและนักเรียน
จำนวน 621 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) โดยมีเครื่องมือใน
การวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความต้องการในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 2)
แบบประเมินความเหมาะสมของแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) แบบบันทึกการ
สนทนากลุ่ม 4) แบบประเมินความพึงพอใจ และ 5) แบบประเมินทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำ
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และทำการวิเคราะห์
ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยโปรแกรมทางสถิติเพื่อหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากนั้นนำผลการ
วิเคราะห์มานำเสนอในรูปแบบการบรรยาย ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของ
โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย พบว่า การบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียน
เทศบาล 6 นครเชียงรายมีการดำเนินงาน 5 ด้านได้แก่ 1) การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2) การคัด
กรองนักเรียน 3) การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการดูแลช่วยเหลือ
นักเรียน และ 5) การส่งต่อในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของนักเรียน ซึ่งจากการศึกษาความ
ต้องการในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนพบว่า มีความต้องการในการนำเอาเทคโนโลยี
ดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน
ของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย พบว่า ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดูแล
ช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย โดยเรียกว่า
4S CRMS6 Digital Student Care System ประกอบด้วย 1) การสำรวจ (Digital Survey) 2) การ
คัดแยก (Digital Sort) 3) การสนับสนุน (Digital Support) และ 4) การประสานพลัง (Digital
Synergy) โดยมีผลการประเมินความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. การศึกษาผลการบริหารสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานเพื่อส่งเสริม
ประสิทธิภาพการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย พบว่า
คณะครูและผู้สนับสนุนห้องเรียนมีระดับทักษะการใช้เทคโนโลยีในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และ
นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการบริหารสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด