การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจ
ผู้รายงาน : นางนิรมล ตันตินิติธรรม
ปีที่รายงาน : พ.ศ. 2566
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ทดลองใช้รูปแบบเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 จำนวน 24 คน โรงเรียน อบจ.บ้านตลาดเหนือ (วันครู 2502) อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แบบประเมินการอ่านเพื่อความเข้าใจ แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ t–test (Dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือขั้นเตรียม (Warm up) ขั้นสอน (Teacher Presentation) ขั้นกิจกรรมกลุ่ม (Team Practice) ขั้นประเมินผล (Testing) บูรณาการกับเทคนิค Think Pair Share เป็นการเรียนรู้แบบเพื่อนคู่คิด ประกอบด้วยขั้นตอนคือ ขั้นคิด (Think) ขั้นจับคู่ (Pair) และขั้นแบ่งปัน (Share) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบมีค่าเฉลี่ย 4.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.50 ซึ่งมีความเหมาะสมระดับมากที่สุด
2. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 พบว่า การอ่านเพื่อความเข้าใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการอ่านเพื่อความเข้าใจและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับมาก