การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีน
ผู้เขียน สุรเชษฐ์ อโลภะตานนท์
1. ความสำคัญของผลงาน
1.1 ความสำคัญและสภาพปัญหา
กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการเรียน จึงทำให้โรงเรียนรัฐบาลเปิดสอนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการเรียนการสอนในด้านต่างๆ มากมาย จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย ดังที่ งานวิจัยเรื่องการศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของจังหวัดเชียงใหม่ ของสุวรรณ เลียงหิรัญถาวร (2556) ซึ่งเป็นการศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในด้านต่างๆ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนขาดความกระตือรือร้นและความตั้งใจในการเรียนภาษาจีน ซึ่งส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และระดับความรู้พื้นฐานของนักเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการเรียนการสอน
การเรียนรู้การเขียนตัวอักษรจีนตามลำดับขีด เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียน เพื่อเป็นพื้นฐานการเรียนรู้อักษรจีนที่ซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2556)
จากการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาจีนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาการเรียนเรื่องอักษรจีนของนักเรียน คือ นักเรียนจำตัวอักษรจีนและความหมายไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาในการต่อยอดการเรียนภาษาจีนในระดับที่สูงขึ้นไปได้ เชื่อมโยงไปยังการเรียนไวยากรณ์ทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหาไวยากรณ์ที่เรียน รวมไปถึงเนื้อหาในบทเรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนภัสสร พรหมทา (2560) ที่กล่าวไว้ว่า ทักษะการเขียนอักษรจีนถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเรียนภาษาจีน แต่ผู้เรียนภาษาจีนส่วนใหญ่กลับมีความคิดว่าตัวอักษรจีนนั้นเขียนยาก เรียนรู้ยาก และจำยาก ต้องใช้ระยะเวลานานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ เนื่องจากอักษรจีนเป็นอักษรที่มีเส้นขีดจำนวนมาก มีวิธีการสร้างตัวอักษรที่หลากหลาย มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน และมีหลักการเขียนที่หลากหลาย ทำให้ยากต่อการจดจำ ทั้งนี้การเขียนภาษาไม่ถูกต้องตามรูปแบบของตัวอักษรจีน อาจทำให้การสื่อสาร การท่องจำคำศัพท์ภาษาจีนหรือการอ่านภาษาจีน เกิดความคลาดเคลื่อนได้
1.2 แนวทางแก้ปัญหาและพัฒนา
จากความสำคัญและสภาพปัญหาดังกล่าว ครูผู้สอนจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม เนื่องจากครูผู้สอนได้รับมอบหมายหน้าที่สอนในรายวิชาภาษาจีนของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม ในภาคเรียนที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเรื่องตัวอักษรจีนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อครูไทยที่สอนภาษาจีนและบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
2. จุดประสงค์และเป้าหมาย
เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนและหลังการเรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม
3. กระบวนการผลิตผลงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน
3.1 การออกแบบผลงาน/นวัตกรรม
เหยิน จิ่งเหวิน (2559) อธิบายเกี่ยวกับตัวอักษรจีนว่า ตัวอักษรจีนเกิดจากการวาดภาพของคนโบราณในสมัยดึกดำบรรพ์ เราเรียกว่า อักษรภาพ ซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อักษรภาพอาศัยรูปร่างตัวอักษรแสดงความหมาย กล่าวคือ ในช่วงแรกอักษรภาพจำนวนมากเห็นแล้วพอจะรู้ความหมาย เพราะคล้ายของจริงมาก ดังนั้นระบบการเขียนของภาษาจีนจึงเป็นระบบการเขียนที่แสดงความหมาย ซึ่งต่างกับระบบการเขียนในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ที่เป็นระบบการเขียนที่แสดงการออกเสียง โดยรูปร่างของตัวอักษรเองไม่ได้แสดงความหมายแต่อย่างใด แต่เพื่อทำให้การเขียนสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อักษรภาพได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการลดจำนวนเส้นขีดให้น้อยลง และหันมาใช้เส้นตรงแทนเส้นโค้งที่เขียนยาก สุดท้ายกลายเป็นเครื่องหมายการเขียนไปแล้วอย่างเต็มตัว ตัวหนังสือจีนที่ใช้ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนรับรู้ความหมายจากรูปร่างของตัวอักษรได้อีกต่อไป คงเหลือส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีร่องรอยของอักษรภาพค่อนข้างชัดเจนถึงทุกวันนี้ วิธีประดิษฐ์ตัวหนังสือจีนหลักๆ มีอยู่ 4 วิธี ดังนี้
1. อักษรภาพ เป็นการวาดภาพตามรูปร่างของสิ่งของที่มีอยู่จริง ส่วนใหญ่เป็นตัวหนังสือเดี่ยว ตัวหนังสือประเภทนี้เป็นตัวหนังสือที่เก่าแก่ที่สุด ถึงแม้ว่ามีจำนวนแค่ประมาณ 5% ของตัวหนังสือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตัวหนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในภายหลัง
2. ตัวหนังสือที่ใช้เครื่องหมายนามธรรมแสดงความหมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นตัวหนังสือเดี่ยว ตัวหนังสือประเภทนี้มีจำนวนไม่มาก
3. ตัวหนังสือผสมเพื่อแสดงความหมายใหม่ เป็นตัวหนังสือใหม่ที่ประกอบขึ้นมาจากตัวหนังสือเดี่ยวหรือส่วนประกอบของตัวหนังสือสองตัวหรือสองตัวขึ้นไป เพื่อแสดงความหมายใหม่ ตัวหนังสือประเภทนี้มีจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นตัวหนังสือผสมที่สร้างขึ้นจากตัวหนังสือเดี่ยวหรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ
4. ตัวหนังสือผสมที่แสดงทั้งความหมายและเสียง โดยประกอบขึ้นจากตัวหนังสือเดี่ยวหรือส่วนประกอบของตัวหนังสือ ซึ่งมีส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกความหมาย และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกเสียง ปัจจุบันนี้ตัวหนังสือประเภทนี้มีมากกว่า 80% ของตัวหนังสือจีนทั้งหมด
ดังนั้น ครูผู้สอนจึงได้ศึกษาและค้นคว้าเครื่องมือในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ ซึ่งได้แก่ ชุดฝึกทักษะการเขียนอักษรโครงสร้างอักษรเดี่ยว (สุกัญญา ทองแห้ว, 2564) เพื่อนำมาพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องอักษรจีนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม
3.2 การดำเนินงานตามกิจกรรม (ตามวงจร PDCA)
1. ขั้นเตรียมการ (Plan)
- วิเคราะห์หลักสูตร และผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาจีน)
- ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้
- สอดแทรกเนื้อหา เรื่องการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว เข้าไปในแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาจีน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
- ออกแบบแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่องการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว
- ให้ครูในกลุ่มสาระฯ 3 ท่าน ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (IOC) ของแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ
2. ขั้นดำเนินการ (Do)
- ทดสอบก่อนเรียนโดยใช้แบบทดสอบก่อนเรียนที่ปรับปรุงแล้ว
- จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการเขียนอักษรจีนกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โดยปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบทตามแผนการจัดการเรียนรู้
3. ขั้นตรวจสอบและประเมินผลการพัฒนางาน (Check)
- ทดสอบหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบหลังเรียนที่ปรับปรุงแล้ว
- บันทึกผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และสรุปเป็นสารสนเทศแจ้งให้ผู้เรียนทราบ ผู้เรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทำการซ่อมเสริมให้จนกว่าผู้เรียนจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
4. ขั้นสรุปและรายงาน (Action)
- นำผลการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเรื่องการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยวที่ได้มาเปรียบเทียบ และหาค่าสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.)
3.3 ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน
จากการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 รายวิชาภาษาจีน เรื่องการเขียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว การจัดการเรียนรู้เป็นไปตามศักยภาพของผู้เรียน และเป็นไปตามผลการเรียนรู้ของหลักสูตร มีการทดสอบก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น แอปพลิเคชั่น Chinese Skill, Youtube, แอปพลิเคชั่น Goodnotes เป็นต้น ฝึกให้นักเรียนได้ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่แปลกใหม่ มีความทันสมัย แต่ยังคงครอบคลุมเนื้อหาความรู้ทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถวัดและประเมินผลได้อย่างแม่นยำ เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ที่สะดวกและเข้าถึงง่าย ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ทั้งเชิงคุณภาพของเนื้อหาความรู้ คุณภาพของสื่อนวัตกรรม คุณภาพของพฤติกรรมผู้เรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
3.4 การใช้ทรัพยากร
จากความรู้ที่ครูผู้สอนได้รับการอบรม พัฒนา ได้นำความรู้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาบรรยากาศห้องเรียนเพื่อส่งเสริมผู้เรียน ในการเรียนรู้รูปแบบผสมผสานผ่านสื่อ มัลติมีเดียต่างๆ ที่ครูผู้สอนได้เตรียมเพื่อการศึกษา นักเรียนสามารถเรียนรู้ทบทวนได้ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลภายในชั้นเรียนเพื่อให้เกิดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ น่าอยู่ น่าดู และน่าเรียน
4. ผลการดำเนินการ/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
4.1 ผลที่เกิดตามจุดประสงค์
การเปรียบเทียบผลการเขียนอักษรจีนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนหลังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ครูผู้สอนได้ดำเนินการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน รายละเอียดดังตาราง
การประเมิน n ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ร้อยละ t-test df sig
ก่อน 33 3.27 1.10 0.7117 71.17 19.22* 32.00 0.00**
หลัง 33 8.06 1.22
*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
จากตาราง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 ที่เรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว จำนวน 33 คน พบว่า คะแนนก่อนเรียนโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.27 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.10 และคะแนนหลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.06 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.22 ส่วนค่าสถิติ t มีค่าเท่ากับ 19.22 ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และคำนวณค่าประสิทธิผลได้เท่ากับ 0.7117 แสดงว่า นักเรียนที่เรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว มีความก้าวหน้าในการจดจำคำศัพท์ภาษาจีนร้อยละ 71.17
4.2 ผลสัมฤทธิ์ของงาน
ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แสดงว่านักเรียนสามารถนำความรู้เรื่องการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ไปใช้ในการช่วยจดจำคำศัพท์ภาษาจีน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยวสามารถช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีนของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความหมายของตัวอักษรจีนแบบโครงสร้างเดี่ยวเป็นพื้นฐานของคำศัพท์อื่นอีกหลายคำ จะช่วยให้นักเรียนสามารถเดาความหมายของคำศัพท์ได้ถูกต้องมากขึ้น
4.3 ประโยชน์ที่ได้รับ
จากการจัดการเรียนรู้เรื่องการเขียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 พบว่า นักเรียนสามารถนำความรู้เรื่องการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ไปใช้ในการช่วยจดจำคำศัพท์ภาษาจีน ทำให้นักเรียนเกิดการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้เนื้อหาในบทเรียนต่ออย่างกระตือรือร้น ซึ่งได้แก่ ไวยากรณ์ภาษาจีน บทสนทนาต่างๆ รวมไปถึงการเขียนพู่กันจีน ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมจีน มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเรียนภาษาจีนในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 จากที่ได้ใช้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายแล้วนั้น เล็งเห็นถึงประโยชน์ของสื่อและเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพราะส่งผลกับตัวผู้สอนและผู้เรียนโดยตรง จึงมีความคิดเห็นว่าควรนำสื่อมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นำมาใช้ในหน่วยการเรียนรู้อื่นๆ และกับระดับชั้นเรียนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
5. ปัจจัยความสำเร็จ
1. ครูผู้สอนต้องแสวงหาความรู้ใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์
2. สถานศึกษามีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้งผู้สอนและผู้เรียนที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้าถึง web browser ต่างๆ และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อความสะดวกในการศึกษาหาความรู้ได้
3. ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึงนวัตกรรม หรือสื่อการเรียนรู้ได้ง่ายและเข้าถึงได้ทุกเวลา
6. บทเรียนที่ได้รับเพื่อการปรับคุณภาพมุ่งพัฒนาต่อไป
6.1 บทเรียนที่ได้รับ
บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรจีน โดยการเขียนอักษรจีนแบบโครงสร้างตัวอักษรเดี่ยว ทำให้ครูผู้สอนเกิดแนวคิดต่างๆ และสามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ การอธิบายลักษณะและกฎเกณฑ์ของตัวอักษรจีน รวมถึงที่มาของตัวอักษร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ ทำให้ง่ายต่อการจดจำ อีกทั้งตัวอักษรและภาษาในแบบฝึกชัดเจนเข้าใจง่าย มีภาพประกอบสวยงาม มีการเรียงลำดับขั้นตอนการฝึกจากง่ายไปยาก การนำเทคนิคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนไปใช้ในรายวิชาภาษาจีนในระดับชั้นอื่นๆ การทำงานแบบร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มศักยภาพ
6.2 การปรับคุณภาพมุ่งพัฒนาต่อไป
1) ควรพัฒนาหรือประยุกต์ชุดฝึกทักษะการเขียนอักษรจีน ให้มีระดับขั้นที่สูงขึ้น และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรโครงสร้างประสม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้มากที่สุดในการเรียนภาษาจีน จะสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจำอักษรจีนของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถพัฒนาการเรียนภาษาจีนของผู้เรียนให้มีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น
2) ควรมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ส่งเสริมการเรียนรู้อักขระดั้งเดิมและตัวย่อของอักษรจีนที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งการออกเสียงและความหมายผ่านเกม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสนุกเพลิดเพลินไปกับการเขียนตัวอักษรจีนมากยิ่งขึ้น
6.3 ข้อควรพึงระวัง
เนื่องจากเนื้อหาเรื่องการเขียนอักษรจีนที่ใช้ในการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้อาจจะยากหรือง่ายสำหรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 บางคนอาจจะมีพื้นฐานการเรียนรู้ภาษาจีนมาก่อน หรือบางคนอาจจะไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็ตาม ควรศึกษาปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตัวอักษรจีนของนักเรียนให้ครอบคลุมทุกคน รวมถึงศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับระดับความรู้ของนักเรียนในแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น