วิจัย เรื่อง การศึกษาภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา
ผู้วิจัย นายธานินทร์ บัวเข็ม
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนบัวใหญ่ สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปี 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบัวใหญ่ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และ 2) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบัวใหญ่ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey study) แบบการศึกษา ณ จุดเวลา (Cross – sectional study) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 โรงเรียนบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จำนวน 329 คน โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Random Sampling) เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ไคสแควร์ (Chi-Square Test) ในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สัมพันธ์กันกับภาวะซึมเศร้า
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนมีภาวะซึมเศร้าจำนวน 64 คน (19.45%) โดยแบ่งออกเป็นเพศหญิง จำนวน 60 คน และเพศชายจำนวน 4 คน นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 16-18 ปี
2. ปัจจัยด้านเพศ ปัจจัยด้านความเครียดกับการเรียน และปัจจัยการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์มีความสัมพันธ์กันกับภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบัวใหญ่ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และนักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าพบมากในเพศหญิง มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและห้องเรียนไม่เป็นที่พอใจหรือมีความปลอดภัย การบ้านหรือกิจกรรมที่ต้องทำจำนวนมากมีกำหนดเวลาที่ต้องทำให้เสร็จแบบไม่สมเหตุสมผล นักเรียนรู้สึกลำบากใจในการแสดงความคิดเห็น
เกี่ยวกับการบ้านหรืองานที่ครูผู้สอนมอบหมาย การบ้านจำนวนมากส่งผล ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและทางด้านอารมณ์ นักเรียนไม่มีผู้ที่ไว้วางใจและเป็นที่ปรึกษาได้เมื่อนักเรียนไม่สบายใจ นักเรียนไม่ได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัวเมื่อไม่สบายใจหรือเป็นทุกข์ และนักเรียนไม่ชอบให้ตนเองเป็นจุดเด่นทั้งในชั้นเรียนหรือในที่สาธารณะ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า ปัจจัยด้านสมดุลชีวิตกับการเรียน ปัจจัยทางด้านสุขภาพและพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบัวใหญ่ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาแต่อย่างใด ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวนับเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้สถานศึกษาได้มีแนวทาง
ในการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันภาวะซึมเศร้าในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คำสำคัญ : ภาวะซึมเศร้า / นักเรียน